การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010  กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ในคดีล้มละลาย เมื่อศาลสั่งประทับรับฟ้องไว้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องทําประการใด

ในคดีล้มละลาย หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จําเลยขอยื่นคําให้การ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะอนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2433

มาตรา 13 “เมื่อศาลสั่งรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้วให้กําหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน และ ให้ออกหมายเรียกและส่งสําเนาคําฟ้องไปยังลูกหนี้ให้ทราบก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 7 วัน”

อธิบาย (กรณีแรก)

จากบทบัญญัติมาตรา 13 จะเห็นได้ว่า เมื่อศาลสั่งประทับรับฟ้องคดีล้มละลายไว้แล้ว ขั้นตอน ต่อไปศาลจะต้องปฏิบัติ ดังนี้

1 ศาลจะต้องกําหนดวันนั่งพิจารณาเป็นการด่วน ซึ่งหมายถึง

(1) นัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งโดยหลักแล้ว ศาลจะต้องนัดสืบพยานโจทก์ก่อนเสมอ เพราะ โจทก์เป็นผู้กล่าวอ้างว่าจําเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) นัดสืบพยานจําเลย

(3) นัดสืบทั้งโจทก์ จําเลย ในวันเดียวกัน

2 ส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องไปให้จําเลยทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนวันนั่งพิจารณา

วินิจฉัย (กรณีหลัง)

ในคดีล้มละลายนั้น เมื่อจําเลยได้รับหมายเรียกแล้ว จําเลยจะมายื่นคําให้การหรือไม่ก็ได้ การที่ จําเลยไม่ยื่นคําให้การไม่ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ เพราะการดําเนินกระบวนพิจารณาในคดีล้มละลายนั้น กฎหมายไม่ได้กําหนดวันยื่นคําให้การเหมือนคดีแพ่งธรรมดา แต่ถ้าจําเลยต้องการจะยื่นคําให้การจะต้องยื่นก่อน ศาลสืบพยานโจทก์เสร็จตามมาตรา 13 ประกอบคําพิพากษาฎีกาที่ 597/2523

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่จําเลยขอยื่นคําให้การนั้น เป็นการยื่นคําให้การหลังจากสืบพยานโจทก์ เสร็จแล้ว ดังนั้นถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะไม่อนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การด้วยเหตุผลดังกล่าวตามมาตรา 13 ประกอบคําพิพากษาฎีกาที่ 597/2523

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะไม่อนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การ

 

ข้อ 2 นาย ก. เป็นหนี้ธนาคาร สินสยาม จํากัด จํานวน 10 ล้านบาท ต่อมาไม่ชําระเงินตามสัญญากู้จึงถูกธนาคาร สินสยาม จํากัด ฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ต่อมาก่อนประชุมเจ้าหนี้ นาย ก. ได้ยื่นคําขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยเสนอเงื่อนไขขอชําระหนี้ร้อยละ 50 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงเรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาคําขอประนอมหนี้ดังกล่าว ก่อนวัน ประชุมเจ้าหนี้ นาย ก. ได้ขอร้อง นาย ข. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่รายหนึ่งให้ช่วยสนับสนุน โดยมีเงื่อนไข จะชําระหนี้ให้นาย ข. เพิ่มอีกร้อยละ 10 นาย ข. ตกลงรับข้อเสนอของนาย ก. ในวันประชุมเจ้าหนี้ นาย ก. ได้ยื่นขอแก้ไขคําขอประนอมหนี้ที่ได้ยินไว้เดิมโดยขอแก้ไขเงื่อนไขการชําระหนี้ให้แก่เฉพาะ นาย ข. อีกร้อยละ 10 ตามที่ตกลงไว้กับนาย ข. เช่นนี้ หากท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะพิจารณาคําขอแก้ไขคําขอประนอมหนี้ของนาย ก. อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 45 วรรคแรก “เมื่อลูกหนี้ประสงค์จะทําความตกลงในเรื่องหนี้สินโดยวิธีขอชําระหนี้ แต่เพียงบางส่วนหรือโดยวิธีอื่นให้ทําคําขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเจ็ดวัน นับแต่วันยื่นคําชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้กําหนดให้”

มาตรา 47 “ลูกหนี้อาจขอแก้ไขคําขอประนอมหนี้ในเวลาประชุมเจ้าหนี้หรือในเวลาที่ศาล พิจารณาได้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลเห็นว่าการแก้ไขนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป”

วินิจฉัย

กรณีตาม ได้กําหนดให้ลูกหนี้ยื่นคําขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนด 7 วัน นับแต่วัน ยื่นคําชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กําหนดให้ และภายหลังจากยื่นคําขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวแล้ว ลูกหนี้อาจขอแก้ไขคําขอประนอมหนี้ ของตนในเวลาประชุมเจ้าหนี้ได้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าการแก้ไขนั้นจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยทั่วไป (ตามมาตรา 47)

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. ได้ยื่นคําขอแก้ไขคําขอประนอมหนี้เดิมของตนที่ได้ยินไว้ โดยขอแก้ไขเพิ่มจํานวนเงินที่จะชําระแก่นาย ข. อีกร้อยละ 10 นั้น แม้ตามมาตรา 47 นาย ก. จะมีสิทธิขอแก้ไขคําขอ ประนอมหนี้ในเวลาประชุมเจ้าหนี้ได้ก็ตาม แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะยอมให้แก้ไขคําขอประนอมหนี้ได้ ก็ต่อเมื่อ การแก้ไขนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหนี้โดยทั่วไปเท่านั้น การที่นาย ก. ขอแก้ไขคําขอประนอมหนี้โดยเพิ่ม จํานวนเงินที่จะชําระแก่นาย ข. เพียงผู้เดียว จึงเป็นการทําให้เจ้าหนี้รายอื่น ๆ เสียเปรียบและไม่เป็นประโยชน์แก่ เจ้าหนี้โดยทั่วไปทุกราย ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจอนุญาตให้นาย ก. แก้ไขคําขอประนอมหนี้ได้

สรุป

หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่อนุญาตให้นาย ก. แก้ไขคําขอประนอมหนี้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 ในการพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เรื่องหนึ่ง ภายหลังจากศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว แต่ศาลยังไม่อาจมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนฟื้นฟูกิจการได้ เนื่องจากศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอ เสนอมาไม่สมควรเป็นผู้ทําแผน และมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อ พิจารณาเลือกผู้ทําแผนในระหว่างที่ศาลยังไม่อาจมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนได้นี้ ศาลมีคําสั่งตั้งผู้บริหารของ ลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว ผู้ร้องขอซึ่งเป็นเจ้าหนี้โต้แย้งว่าเมื่อศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ แล้ว ผู้บริหารของลูกหนี้ไม่มีอํานาจบริหารกิจการของลูกหนี้ต่อไป ในระหว่างที่ศาลยังไม่อาจตั้ง ผู้ทําแผนได้จะต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารกิจการของลูกหนี้แทนผู้บริหารของ ลูกหนี้ชั่วคราว ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อโต้แย้งของผู้ร้องขอรับฟังได้หรือไม่ ประการใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/20 วรรคแรก “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทําแผน ให้อํานาจ ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดลง ให้ศาลมีคําสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือ หลายคนหรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว มีอํานาจหน้าที่จัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปภายใต้ การกํากับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทําแผน ในระหว่างที่ไม่สามารถมีคําสั่งตั้งผู้บริหาร ชั่วคราวได้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ตามมาตรา 90/20 บัญญัติให้ศาลมีอํานาจมีคําสั่งแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือหลายคนหรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว มีอํานาจหน้าที่จัดกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป ในกรณีที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทําแผน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นกรณีที่ศาลยังไม่อาจมีคําสั่ง ตั้งผู้ทําแผนได้ ศาลจึงมีอํานาจมีคําสั่งตั้งผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว ให้มีอํานาจหน้าที่บริหารกิจการ ของลูกหนี้ต่อไปได้ เว้นแต่ศาลไม่สามารถมีคําสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงจะมีอํานาจบริหาร กิจการของลูกหนี้ชั่วคราว ดังนั้น คําสั่งศาลที่ตั้งผู้บริหารลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวจึงชอบแล้ว ข้อโต้แย้งของ ผู้ร้องขอจึงไม่อาจรับฟังได้

สรุป

ข้อโต้แย้งของผู้ร้องขอไม่อาจรับฟังได้

Advertisement