การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.นายเป็ดแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่านายไก่ใช้ไม้ตีรถยนต์ของนายเป็ดได้รับความเสียหาย ขอให้มีหมายเรียกนายไก่มารับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แล้วจะไม่เอาเรื่อง พนักงานสอบสวน จึงสอบคําให้การนายเป็ดไว้ ต่อมานายไก่มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก พนักงานสอบสวน ได้ทําการสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นายไก่ตามกฎหมาย ฐานทําให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความหรือความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งนายไก่ให้การปฏิเสธโดย ขอให้การในชั้นศาล และยังให้การด้วยว่านายเป็ดโกงเงินผม นายเป็ดกลัวนายไก่จะแจ้งความกลับ ฐานฉ้อโกง จึงไม่มาพบพนักงานสอบสวนอีกเลย พนักงานสอบสวนสรุปสํานวนมีความเห็นควร สั่งฟ้องนายไก่ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวส่งพนักงานอัยการพิจารณา

ให้วินิจฉัยว่า พนักงานอัยการจะฟ้องนายไก่ฐานทําให้เสียทรัพย์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6

(7) “คําร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่ามีผู้กระทําความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทําความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทําให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ”

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(1) พนักงานอัยการ

(2) ผู้เสียหาย”

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิด นั้นก่อน”

มาตรา 121 วรรคสอง “แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะมี คําร้องทุกข์ตามระเบียบ”

วินิจฉัย

โดยหลักการแล้วพนักงานอัยการเป็นบุคคลผู้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 28 (1) แต่ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน (ป.วิ.อาญา มาตรา 120) และถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทําการสอบสวนเว้นแต่จะได้มีคําร้องทุกข์ ตามระเบียบ (ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเป็ดผู้เสียหายได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่านายไก่ใช้ไม้ ตีรถยนต์ของนายเป็ดได้รับความเสียหาย ขอให้มีหมายเรียกนายไก่มารับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น การแจ้งความ ดังกล่าวของนายเป็ดไม่ถือว่าเป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (7) เพราะการแจ้งความหรือการกล่าวหา ของนายเป็ดนั้นได้กล่าวโดยไม่มีเจตนาที่จะให้นายไก่ผู้กระทําความผิดได้รับโทษ

เมื่อความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 358 เป็นความผิดอันยอมได้หรือความผิด ต่อส่วนตัว เมื่อไม่มีคําร้องทุกข์ของนายเป็ดผู้เสียหาย พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอํานาจทําการสอบสวน ดังนั้น การที่ พนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนและแจ้งข้อหาแก่นายไก่ การสอบสวนดังกล่าวจึงมิชอบตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 121 วรรคสอง จึงให้ถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์มาก่อน และเมื่อถือว่ามิได้มีการสอบสวน ในความผิดนั้นมาก่อน พนักงานอัยการจึงไม่มีอํานาจฟ้องนายไก่ฐานทําให้เสียทรัพย์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120

สรุป พนักงานอัยการจะฟ้องนายไก่ฐานทําให้เสียทรัพย์ไม่ได้

 

ข้อ 2. นายดําสักรถจักรยานยนต์ของนายแดงที่จังหวัดราชบุรีและนํามาขายให้แก่นายขาวที่จังหวัดนครปฐมนายแดงได้ร้องทุกข์ต่อร้อยตํารวจเอกม่วง พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองราชบุรี หลังจากร้อยตํารวจเอกม่วงได้รับคําร้องทุกข์แล้ว ต่อมานายดําถูกดาบตํารวจฟ้าจับได้ที่จังหวัดราชบุรีและ ถูกดําเนินคดี โดยพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายดําเป็นจําเลยในความผิดฐานลักทรัพย์เวลากลางคืน อันเป็นคดีลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ต่อศาลจังหวัดราชบุรี เมื่อศาลจังหวัดราชบุรีได้พิพากษาลงโทษ นายดําจําเลยแล้ว ปรากฏว่าสิบตํารวจเอกเหลืองซึ่งเป็นตํารวจประจําสถานีตํารวจภูธรเมืองนครปฐม จับนายขาวได้ที่จังหวัดนครปฐมพร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ของนายแดงที่ถูกนายดําลักไปและได้นําตัวนายขาวไปส่งให้แก่ร้อยตํารวจเอกเขียว พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองนครปฐม

ให้วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนท้องที่ใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสอบสวนคดีของนายขาว ในความผิดฐานรับของโจร และพนักงานอัยการจะฟ้องนายขาวเป็นจําเลยในความผิดฐานรับของโจร ต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 19 “ในกรณีดังต่อไปนี้

(3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทําต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่า ท้องที่หนึ่งขึ้นไป

พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้ ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน

(ข) ถ้าจับตัวผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทําผิด ก่อนอยู่ในเขตอํานาจ”

มาตรา 24 “เมื่อความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันโดยเหตุหนึ่งเหตุใดเป็นต้นว่า

(1) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทําลงโดยผู้กระทําผิดคนเดียวกัน หรือผู้กระทําผิด หลายคนเกี่ยวพันกันในการกระทําความผิดฐานหนึ่งหรือหลายฐาน จะเป็นตัวการ ผู้สมรู้หรือรับของโจรก็ตาม

ดังนี้จะฟ้องคดีทุกเรื่อง หรือฟ้องผู้กระทําความผิดทั้งหมด.ต่อศาลซึ่งมีอํานาจชําระในฐาน ความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าไว้ก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําลักรถจักรยานยนต์ของนายแดงที่จังหวัดราชบุรีและนํามาขาย ให้แก่นายขาวที่จังหวัดนครปฐม ความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานรับของโจรในทรัพย์ชิ้นเดียวกันนั้น เป็น ความผิดต่อเนื่องตามความหมายของ ป.วิ.อาญา มาตรา 19 (3) ดังนั้น พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใด ที่เกี่ยวข้องมีอํานาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่งตอนท้าย (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 3903/2531)

เมื่อนายแดงได้ร้องทุกข์ต่อร้อยตํารวจเอกม่วงพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองราชบุรี และร้อยตํารวจเอกม่วงได้รับคําร้องทุกข์ไว้แล้ว ร้อยตํารวจเอกม่วงพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทํา ความผิดก่อนย่อมมีอํานาจทําการสอบสวนได้และเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสอบสวนคดีของนายขาว ในความผิดฐานรับของโจรตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ข) (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1126/2544)

แม้ความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเกิดที่จังหวัดราชบุรีกับความผิดฐานรับของโจรซึ่งเกิดขึ้นที่ จังหวัดนครปฐมเกิดต่างท้องที่กัน แต่ทรัพย์ที่ถูกลักกับรับของโจรนั้นเป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน คือรถจักรยานยนต์ของ นายแดงผู้เสียหาย โดยถูกลักไปจากท้องที่หนึ่งแล้วนําไปจําหนายให้แก่นายยาวผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง จึงเป็น ความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกัน โดยมีผู้กระทําความผิดหลายคน มีทั้งที่เป็นตัวการ ลักทรัพย์ ผู้สมรู้ และรับของโจร ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 24 (1) (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2455/2550)

และตามกฎหมายความผิดฐานลักทรัพย์เวลากลางคืนมีอัตราโทษสูงกว่าความผิดฐานรับของโจร ดังนั้นพนักงานอัยการจึงฟ้องนายขาวเป็นจําเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลจังหวัดราชบุรีที่มีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานลักทรัพย์โดยมีเหตุฉกรรจ์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 24 วรรคสอง (เทียบ คําพิพากษาฎีกาที่ 2455/2550)

สรุป พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรเมืองราชบุรีเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ สอบสวนคดีของนายขาวในความผิดฐานรับของโจร และพนักงานอัยการจะฟ้องนายขาวเป็นจําเลยในความผิด ฐานรับของโจรต่อศาลจังหวัดราชบุรีได้

 

ข้อ 3. นายเปรมได้กระทําความผิดข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่และข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กําลังประทุษร้าย เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนคดีนี้เสร็จแล้ว พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายเปรมในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 289 ประกอบมาตรา 80 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ พนักงาน อัยการยื่นอุทธรณ์ ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายเปรมข้อหาต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กําลังประทุษร้าย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138

ดังนี้ พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเปรมข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้ กําลังประทุษร้ายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) กรณีที่สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องระงับ เมื่อมีคําพิพากษา เสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1 จําเลยในคดีแรกและคดีที่นํามาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน

2 การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําเดียวกัน

3 ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเปรมได้กระทําความผิดข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการ ตามหน้าที่และข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กําลังประทุษร้าย และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายเปรม ในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตาม ป.อาญา มาตรา 289 ประกอบมาตรา 80 และศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือนั้น ย่อมถือว่าศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว ดังนั้น การที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายเบรมข้อหาต อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้ กําลังประทุษร้ายตาม ป.อาญา มาตรา 138 อีก เมื่อเหตุแห่งการยื่นฟ้องนายเปรมครั้งหลังเป็นการกระทําเดียวกันกับ เหตุที่นายเปรมถูกฟ้องในครั้งแรก และผู้ถูกฟ้องเป็นจําเลยคนเดียวกัน ดังนั้น การฟ้องของพนักงานอัยการ ครั้งหลังจึงเป็นการฟ้องซ้ํา ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) พนักงานอัยการจึงยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษ นายเปรมข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กําลังประทุษร้ายไม่ได้ เพราะสิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4)

สรุป

พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องให้ศาลลงโทษนายเปรมข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้ กําลังประทุษร้ายไม่ได้เพราะเป็นฟ้องซ้ํา

 

ข้อ 4. นายสับปะรดได้เชิญ ร.ต.อ.ยอดเยี่ยม และนายเทาให้ไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านของนายสับปะรด ขณะอยู่ในบ้านของนายสับปะรด ร.ต.อ.ยอดเยี่ยมจําได้ว่านายเทาเป็นคนร้ายที่ศาล ได้ออกหมายจับไว้แล้ว ร.ต.อ.ยอดเยี่ยมซึ่งได้นําหมายจับนายเทาติดตัวมาด้วย ได้แจ้งนายเหาว่า ต้องถูกจับและนําหมายจับเข้าจับกุมนายเทา

ดังนี้ การที่ ร.ต.อ.ยอดเยี่ยมจับนายเทาในบ้านของนายสับปะรดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 57 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 78 มาตรา 79 มาตรา 80 มาตรา 92 และมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายนี้จะจับขัง จําคุก หรือค้นในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของต้องมีคําสั่ง หรือหมายของศาลสําหรับการนั้น

บุคคลซึ่งต้องขังหรือจําคุกตามหมายศาล จะปล่อยไปได้ก็เมื่อมีหมายปล่อยของศาล”

มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.อ.ยอดเยี่ยมได้จับกุม นายเทาในบ้านของนายสับปะรดนั้น ถือเป็นการจับในที่รโหฐาน ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้จะต้องมีอํานาจในการจัย โดยมีหมายจับหรืออํานาจที่กฎหมาย ให้ทําการจับได้โดยไม่ต้องมีหมายและต้องทําตามบทบัญญัติใน ป.วิ.อาญา อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือ มีอํานาจในการค้นโดยมีหมายค้น หรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 57

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่ ร.ต.อ.ยอดเยี่ยมจับนายเท่านั้นเป็นการจับตามหมายจับ แม้จะเป็นการจับในที่รโหฐานก็ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 81 เพราะการที่ ร.ต.อ.ยอดเยี่ยมได้เข้าไปในบ้าน ของนายสับปะรดซึ่งเป็นที่รโหฐานอันถือเสมือนเป็นการค้นในที่รโหฐานนั้น เป็นการเข้าไปโดยชอบ เนื่องจาก นายสับปะรดเจ้าของผู้ครอบครองที่รโหฐานเชื้อเชิญให้เข้าไป ร.ต.อ.ยอดเยี่ยมจึงไม่ต้องขอหมายค้นของศาล เพื่อเข้าไปค้นบ้านที่ตนอยู่ในบ้านโดยชอบแล้ว ดังนั้น การที่ ร.ต.อ.ยอดเยี่ยมจับนายเทาในบ้านของนายสับปะรด จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

การที่ ร.ต.อ.ยอดเยี่ยมจับนายเทาในบ้านของนายสับปะรดชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement