การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายสมยศอายุ 25 ปี ตกลกทําสัญญาหมั้นนางสาวประไพอายุ 24 ปี ด้วยเงิน 200,000 บาท เมื่อถึงวันที่ตกลงทําสัญญาหมั้นนายสมยศทําเงินหายแต่เพื่อไม่ให้เสียฤกษ์การหมั้น นายสมยศจึงตกลง ทําสัญญากู้เงิน 200,000 บาท ให้นางสาวประไพยึดถือไว้ ต่อมานายสมยศได้รู้จักและชอบพอกับ นางสาวอรสาอายุ 19 ปี จึงตกลงทําสัญญาหมั้นนางสาวอรสาด้วยทอง 1 บาท โดยบิดามารดาของ นางสาวอรสาไม่ทราบ เมื่อนางสาวประไพทราบก็อ้างว่าการหมั้นของนางสาวอรสาทําไม่ถูกต้องไม่มีผล และต้องการฟ้องให้นายสมยศทําการสมรสกับตนตามสัญญาและต้องการฟ้องเรียกเงินของหมั้นด้วยเช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้ (1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1438 “การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่า จะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมยศอายุ 25 ปี ตกลงทําสัญญาหมั้นนางสาวประไพอายุ 24 ปี ด้วยเงิน 200,000 บาท แต่เมื่อถึงวันที่ตกลงทําสัญญาหมั้นนายสมยศได้ทําเงินหาย แต่เพื่อไม่ให้เสียฤกษ์การหมั้น นายสมยศจึงตกลงทําสัญญากู้เงิน 200,000 บาท ให้นางสาวประไพยึดถือไว้นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายสมยศยังมิได้ ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง ดังนั้นการหมั้นระหว่างนายสมยศกับนางสาวประไพจึง ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง และการทําสัญญากู้ดังกล่าวนั้นก็เป็นเพียงสัญญาจะให้ทรัพย์สินอัน เป็นของหมั้นในวันข้างหน้า เมื่อยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กัน จึงยังถือไม่ได้ว่ามีการให้ของหมั้นกันตาม กฎหมาย (มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง)

ดังนั้น นางสาวประไพจึงไม่อาจฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ในฐานะของหมั้นได้ (ฎีกาที่ 1852/2506) และนางสาวประไพจะฟ้องให้นายสมยศทําการสมรสกับตนตามสัญญาก็ไม่ได้เช่นกันตาม มาตรา 1438 ที่กําหนดไว้ว่า “การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้”

ส่วนการที่นายสมยศได้รู้จักและชอบพอกับนางสาวอรสาอายุ 19 ปี จึงตกลงหมั้นกับนางสาวอรสา ด้วยทอง 1 บาท โดยบิดามารดาของนางสาวอรสาไม่ทราบนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นางสาวอรสาซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้ ทําการหมั้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา ดังนั้น การหมั้นระหว่างนายสมยศกับนางสาวอรสา จึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 1436

สรุป การหมั้นระหว่างนายสมยศกับนางสาวประไพมีผลไม่สมบูรณ์ นางสาวประไพจะฟ้อง ให้นายสมยศทําการสมรสกับตนตามสัญญา และจะฟ้องเรียกเงินของหมั้นไม่ได้ ส่วนการหมั้นระหว่างนายสมยศ กับนางสาวอรสามีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 2 นายมงคลอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ไปจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.จันทร์แจ่ม อายุ 20 ปี ต่อมาอีก 3 เดือนน.ส.จันทร์แจ่มได้ตั้งครรภ์ บิดามารดาของนายมงคลทราบก็โกรธมากจึงได้ฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสนี้ เช่นนี้จะทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1448 “การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณี ที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนนั้นได้”

มาตรา 1504 “การสมรสที่เป็นโมฆยะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1448 ผู้มีส่วนได้เสียขอให้เพิก ถอนการสมรสได้ แต่บิดามารดาหรือผู้ปกครองที่ให้ความยินยอมแล้วจะขอให้เพิกถอนการสมรสไม่ได้

ถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสจนชายหญิงมีอายุครบตามมาตรา 1448 หรือเมื่อหญิง มีครรภ์ก่อนอายุครบตามมาตรา 1448 ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมงคลอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ได้จดทะเบียนสมรสกับ น.ส.จันทร์แจ่ม อายุ 20 ปีนั้น ถือเป็นกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1448 เพราะนายมงคลมีอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ดังนั้นการสมรสระหว่างนายมงคลกับ น.ส.จันทร์แจ่มจึงตกเป็นโมฆียะ

และเมื่อสมรสไปได้ 3 เดือน น.ส.จันทร์แจ่มได้ตั้งครรภ์ และบิดามารดาของนายมงคลทราบ จึงได้ฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนายมงคลกับ น.ส.จันทร์แจ่มนั้น เมื่อบิดามารดาของนายมงคลถือว่า เป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะดังกล่าวได้ตามมาตรา 1504 วรรคหนึ่ง และกรณีดังกล่าวก็ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1504 วรรคสอง กล่าวคือ นายมงคลยังมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ และบทบัญญัติในมาตรา 1504 วรรคสองนั้น เป็นบทบัญญัติคุ้มครองเฉพาะในกรณีที่หญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์เท่านั้น

สรุป การสมรสระหว่างนายมงคลกับ น.ส.จันทร์แจ่มเป็นโมฆียะ บิดามารดาของนายมงคล สามารถฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสได้

 

ข้อ 3 นายนพและนางศรีเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายนพทําสัญญากู้ยืมเงินกับนายกันต์ จํานวน 50,000 บาท โดยนางศรีลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินนั้น นางศรีขอให้นายนพนําเงินที่กู้มา ใช้จ่ายในครอบครัว แต่นายนพไม่ยินยอม นายนพกลับนําเงินทั้งหมดไปเล่นการพนัน เมื่อหนี้ถึงกําหนด ชําระ นายกันต์ได้มาทวงถามให้นายนพและนางศรีชําระหนี้ นางศรีปฏิเสธว่าตนเองไม่ต้องรับผิด เพราะตนเองไม่ได้เป็นผู้กู้อีกทั้งนายนพนําเงินทั้งหมดไปเล่นการพนัน ไม่ได้นํามาใช้จ่ายในครอบครัว แต่อย่างใด ต่อมานางศรีอยากเช่าที่ดินเพื่อเปิดร้านขายอาหาร นางศรีไปทําสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่ง จากนางแก้วเป็นระยะเวลา 5 ปี นางศรีขายรถจักรยานยนต์ที่เป็นสินสมรสและนําเงินที่ได้จากการ ขายรถจักรยานยนต์ไปจ่ายค่าเช่าที่ดินดังกล่าว โดยนายนพไม่รู้เห็นและให้ความยินยอมในการเช่าที่ดิน และขายรถจักรยานยนต์แต่อย่างใด ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นางศรีจะต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ทุนายนพทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายกันต์ 50,000 บาท หรือไม่เพราะเหตุใด

(ข) นายนพจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมที่นางศรีเช่าที่ดินและขายรถจักรยานยนต์ที่เป็นสินสมรสได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีก ฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิ เหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อ การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน”

มาตรา 1490 “หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้น ในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจําเป็นสําหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทําด้วยกัน

(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายนพทําสัญญากู้ยืมเงินกับนายกันต์จํานวน 50,000 บาท โดยนายนพได้นําเงินทั้งหมด ไปเล่นการพนันนั้น หนี้ดังกล่าวถือเป็นหนี้ที่นายนพได้ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่การที่นางศรีได้ลง ลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้เงินนั้น ถือได้ว่านางศรีได้ให้สัตยาบันในหนี้นั้นแล้ว หนี้ดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมที่ นายนพและนางศรีจะต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 1490 (4) ดังนั้น นางศรีจะต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ที่นายนพ ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายกันต์ 50,000 บาท

(ข) การที่นางศรีทําสัญญาเช่าที่ดินจากนางแก้วเป็นระยะเวลา 5 ปีนั้น การเช่าที่ดินมิใช่เป็นการ จัดการสินสมรสที่คู่สมรสต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 (3) เพราะมิใช่เป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี (เป็นการเช่า ไม่ใช่ให้เช่า) ดังนั้น นายนพจึงฟ้องศาลเพื่อให้ เพิกถอนการที่นางศรีทําสัญญาเช่าที่ดินตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่งไม่ได้

ส่วนการที่นางศรีได้ขายรถจักรยานยนต์ที่เป็นสินสมรสนั้น มิใช่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้ตามมาตรา 1476 (1) จึงมิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น นายนพจึงฟ้องศาลเพื่อให้เพิกถอนการที่นางศรีขาย รถจักรยานยนต์ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง ไม่ได้เช่นกัน

สรุป

(ก) นางศรีจะต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ที่นายนพทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายกันต์จํานวน 50,000 บาท

(ข) นายนพจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมที่นางศรีเช่าที่ดินและขายรถจักรยานยนต์ที่เป็นสินสมรสไม่ได้

 

ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่นายไก่เป็นคนเจ้าชู้มาก นางไข่กลัวว่าสามีจะไปมีภริยาน้อยจึงอนุญาตให้นายไก่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงขายบริการได้ตามความต้องการ ของนายไก่ แต่นายไก่ก็ยังแอบไปเลี้ยงดูนางเป็ดฉันภริยาอีกคนหนึ่ง และมีลูกด้วยกันคือเด็กชายหมู ด้วยความหึงหวงนางไข่ตัดอวัยวะเพศนายไก่ทิ้งแม่น้ำไป จากเหตุการณ์กล่าวมาข้างต้น คือ นายไก่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงโสเภณีเป็นอาจิณ นายไก่ มีภริยาน้อยคือนางเป็ด และนายไก่ไม่มีอวัยวะเพศ นางไข่จะอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าต่อนายไก่ได้หรือไม่ และเด็กชายหมูเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทําให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1517 “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุ ฟ้องหย่าไม่ได้”

เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (10) ถ้าเกิดเพราะการกระทําของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้”

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายไก่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงโสเภณีเป็นอาจิณนั้น แม้จะถือว่าเป็นเหตุฟ้องหย่า ได้ตามมาตรา 1516 (1) แต่นางไข่จะอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าต่อนายไก่ไม่ได้ เพราะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1517 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ การที่นายไก่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงโสเภณีเป็นอาจิณนั้นนางไข่ยินยอมและรู้เห็นเป็นใจด้วย

2 การที่นายไก่ได้แอบไปเลี้ยงดูนางเป็ดฉันภริยาอีกคนหนึ่งนั้น นางไข่สามารถฟ้องหย่า นายไก่ได้ เพราะถือเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1)

3 การที่นายไก่ไม่มีอวัยวะเพศนั้น ถือว่านายไก่มีสภาพแห่งกายที่ทําให้ไม่อาจร่วมประเวณี ได้ตลอดกาลตามมาตรา 1516 (10) แต่นางไข่จะอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าต่อนายไก่ไม่ได้ เพราะเมื่อนางไข่เป็นผู้ตัด อวัยวะเพศของนายไก่ทิ้ง จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1517 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้นางไข่ยกขึ้นเป็นเหตุฟ้องหย่า

4 เด็กชายหมูเป็นบุตรของนางเป็ดซึ่งมิได้ทําการสมรสกับนายไก่ ดังนั้นเด็กชายหมูย่อม เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางเป็ดแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ของนางเป็ดตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก

สรุป

นางไข่สามารถอ้างเหตุที่นายไก่มีภริยาน้อยคือนางเป็ดเพื่อฟ้องหย่านายไก่ได้ แต่จะอ้าง เหตุที่นายไก่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงโสเภณีเป็นอาจิณ หรือเหตุที่นายไก่ไม่มีอวัยวะเพศเพื่อฟ้องหย่านายไก่ไม่ได้ ส่วนเด็กชายหมูเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางเป็ดแต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก

Advertisement