การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายสมานได้ตกลงกับ น.ส.วิไลว่าจะทําสัญญาหมั้นกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เมื่อถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายสมานทําแหวนหมั้นหาย จึงได้ขอยืมแหวนของ น.ส.อรสาซึ่งเป็นเพื่อนของ น.ส.วิไลมาสวม ให้ น.ส.วิไลก่อนตามกําหนดเวลาหมั้นที่ได้กําหนดไว้ และยังได้ทําสัญญากู้ยืมเงิน 200,000 บาท ให้ น.ส.วิไลไว้เป็นของหมั้นอีกด้วย น.ส.วิไลได้ลาออกจากงานเพื่อที่จะไปใช้ชีวิตครอบครัวกับ นายสมานที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่นายสมานได้สนิทสนมกับ น.ส.อรสาจนมีความสัมพันธ์ทางเพศกัน และได้ตัดสินใจอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จึงปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.วิไล เช่นนี้ น.ส.วิไลจะฟ้องเรียกเงิน 200,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน เรียกค่าทดแทนต่อชื่อเสียงและที่ได้ลาออกจากงาน และต้องการฟ้อง น.ส.อรสาเรียกค่าทดแทนที่มาร่วมประเวณีกับนายสมานด้วย ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือ โอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นเมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง”
มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”
มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทําการในฐานะ เช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่ อาชีพหรือทางทํามาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส”
มาตรา 1445 “ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้น ของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมานได้ตกลงกับ น.ส.วิไลว่าจะทําสัญญาหมั้นกัน แต่เมื่อถึง กําหนดเวลาวันหมั้น นายสมานทําแหวนหมั้นหายจึงได้ขอยืมแหวนของ น.ส.อรสามาสวมให้ น.ส.วิไลก่อนตาม กําหนดเวลาหมั้นที่ได้กําหนดไว้นั้น แหวนดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบ โดยมีเจตนาจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นแต่อย่างใด (ตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่งและวรรคสอง)
และการที่นายสมานได้ทําสัญญากู้ยืมเงิน 200,000 บาท ให้ น.ส.วิไลไว้เป็นของหมั้นนั้น เมื่อยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินคือเงิน 200,000 บาท ให้แก่หญิงคู่หมั้น เป็นเพียงการทําสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน ที่เป็นของหมั้นกันในวันข้างหน้า ทรัพย์สินคือเงิน 200,000 บาท จึงไม่ถือว่าเป็นของหมั่นตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังนั้น น.ส.วิไลจะฟ้องเรียกเงิน 200,000 บาท ตามสัญญากู้ในฐานะเป็นของหมั้นไม่ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 1852/2506)
เมื่อการหมั้นระหว่างนายสมานกับ น.ส.วิไล เป็นการหมั้นโดยไม่มีทรัพย์สินอันเป็นของหมั้น การหมั้นจึงไม่สมบูรณ์ถือเสมือนว่าไม่มีการหมั้นกัน ดังนั้น การที่ต่อมานายสมานได้ปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนสมรส กับ น.ส.วิไล จึงไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 น.ส.วิไลจึงฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนต่อชื่อเสียง และที่ได้ลาออกจากงานเพื่อที่จะไปใช้ชีวิตครอบครัวกับนายสมานที่จังหวัดเชียงใหม่ตามมาตรา 1440 (1) และ (3) ไม่ได้ และจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.อรสาที่ได้มาร่วมประเวณีกับนายสมานตามมาตรา 1445 ก็ไม่ได้เช่นกัน
สรุป
น.ส.วิไลจะฟ้องเรียกเงิน 200,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงิน และจะฟ้องเรียกค่าทดแทน ต่อชื่อเสียงและที่ได้ลาออกจากงานไม่ได้ และจะฟ้อง น.ส.อรสาเพื่อเรียกค่าทดแทนที่ได้มาร่วมประเวณีกับนายสมาน เก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ข้อ 2 นายดินกับนางเพชรเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรส ระหว่างสมรสนายดินซื้อที่ดิน 1 แปลงราคา 1,000,000 บาท โดยหักเงินเดือนของตนเองทุกเดือนผ่อนชําระจนครบ ต่อมานางเพชรป่วย บุคคลทั้งสองจึงยินยอมหย่าขาดจากกัน โดยทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและมีพยานลงลายมือชื่อไว้ สองคน หลังจากนั้นอีก 1 เดือนนายดินจดทะเบียนสมรสกับนางน้ําฝน ก่อนสมรสนางน้ําฝนมีเงินฝาก 200,000 บาท และได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากภายหลังการสมรสอีกจํานวน 50,000 บาท จาก ข้อเท็จจริงดังกล่าว ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(1) การสมรสของนายดินกับนางน้ำฝน มีผลในทางกฎหมายอย่างไร
(2) ทรัพย์สินต่าง ๆ นั้นจะเป็นของใคร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”
มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”
มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”
มาตรา 1498 “การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรส รวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทํามาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็น สมควรสั่งเป็นประการอื่น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว ภาระในการหาเลี้ยงชีพ และฐานะของคู่กรณี ทั้งสองฝ่ายตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว”
มาตรา 1514 “การหย่านั้นจะทําได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคําพิพากษาของศาล
การหย่าโดยความยินยอมต้องทําเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน”
มาตรา 1515 “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอม จะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่นายดินกับนางเพชรซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยการจดทะเบียนสมรส ได้ตกลงยินยอม หย่าขาดจากกัน โดยทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและมีพยานลงลายมือชื่อไว้สองคนนั้น แม้จะได้ทําถูกต้องตาม มาตรา 1514 แล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการหย่า การหย่าของทั้งสองจึงยังไม่สมบูรณ์ตาม มาตรา 1515 และให้ถือว่านายดินกับนางเพชรยังคงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่
ดังนั้น การที่นายดินได้จดทะเบียนสมรสกับนางน้ําฝน จึงเป็นกรณีที่นายดินได้ทําการ สมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว จึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 การสมรสของนายดินกับนางน้ําฝน จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
(2) สําหรับทรัพย์สินต่าง ๆ จะเป็นของใครนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ
ที่ดิน 1 แปลง ราคา 1,000,000 บาท ที่นายดินซื้อมาโดยหักเงินเดือนของตนเอง ทุกเดือนผ่อนชําระจนครบนั้น เมื่อเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสของนายดินกับนางเพชร ตามมาตรา 1474 (1)
สําหรับเงินฝาก 200,000 บาทของนางน้ําฝนและดอกเบี้ยจากเงินฝากภายหลัง สมรสอีก 50,000 บาทนั้น ย่อมตกเป็นของนางน้ำฝนแต่เพียงผู้เดียว เพราะการสมรสระหว่างนายดินกับนางน้ำฝน ที่ตกเป็นโมฆะนั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคหนึ่งและ วรรคสอง
สรุป
(1) การสมรสของนายดินกับนางน้ำฝน มีผลเป็นโมฆะ
(2) ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินที่นายดินซื้อมาเป็นสินสมรสของนายดินกับนางเพชร ส่วนเงินฝากของนางน้ำฝนและดอกเบี้ยอีก 50,000 บาท เป็นของนางน้ำฝนแต่เพียงผู้เดียว
ข้อ 3 นายหมากและนางมนเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ทั้งสองทําสัญญาระหว่างสมรสให้นายหมาก เป็นผู้มีอํานาจในการจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายหมากได้จํานองที่ดินแปลงหนึ่ง ที่เป็นสินสมรสกับนายภาพในราคาหนึ่งล้านบาท โดยที่นายภพไม่รู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรส ต่อมาบิดาของนายหมากได้ยกบ้านให้นายหมาก นายหมากนําบ้านหลังดังกล่าวไปให้คนอื่นเช่า นายหมากนําเงินค่าเช่าจํานวนห้าหมื่นบาทไปให้นายเก่งผู้เป็นเพื่อนยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย นางมนไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมทั้งในเรื่องการจํานองที่ดินและการให้กู้ยืมเงินแต่อย่างใด นางมนน้อยใจนายหมากมากที่จัดการเรื่องต่าง ๆ โดยไม่เคยบอกกล่าวแก่ตนเลย ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางมนจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายหมากจํานองที่ดินที่เป็นสินสมรสกับนายภพและการที่ นายหมากให้กู้ยืมเงินแก่นายเก่งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1465 วรรคหนึ่ง “ถ้าสามีภริยามิได้ทําสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้”
มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”
มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”
มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว”
มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิ์จํานองซึ่ง อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อ การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”
มาตรา 1476/1 วรรคหนึ่ง “สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และ มาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส”
มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและ เสียค่าตอบแทน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาระหว่างสมรสที่นายหมากและนางมนได้ทําต่อกันโดยให้นายหมาก เป็นผู้มีอํานาจในการจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวนั้นใช้บังคับไม่ได้ เพราะกรณีที่สามีหรือภริยาจะจัดการ สินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 เท่านั้น (มาตรา 1476/1 วรรคหนึ่ง) ดังนั้น เมื่อนายหมากและนางมนไม่ได้ทําสัญญาก่อน สมรสไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างนายหมากและนางมนในเรื่องทรัพย์สิน จึงต้องบังคับกันตามมาตรา 1473 และมาตรา 1476
การที่นายหมากนําที่ดินที่เป็นสินสมรสไปจํานองกับนายภพนั้น เป็นนิติกรรมตามมาตรา 1476 (1) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น เมื่อนายหมากจํานองที่ดิน โดยที่นางมนไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอม โดยหลักแล้ว นางมนย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องศาลขอเพิกถอนตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่งได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายภพซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่รู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรส และนายภพ ได้จ่ายเงินค่าจํานองให้นายหมาก จึงถือว่านายภพได้กระทําการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ซึ่งเข้าข้อยกเว้น ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่งตอนท้าย ดังนั้น นางมนจึงฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายหมากนําที่ดินที่เป็นสินสมรส ไปจํานองกับนายภพไม่ได้
ส่วนบ้านที่นายหมากได้มาในระหว่างสมรสโดยบิดาของนายหมากยกให้โดยเสน่หานั้น มิใช่ สินสมรสตามมาตรา 1474 (1) แต่เป็นสินส่วนตัวของนายหมากตามมาตรา 1471 (3) นายหมากจึงสามารถจัดการ ได้โดยลําพังตามมาตรา 1473 แต่เมื่อนายหมากได้เอาบ้านหลังดังกล่าวไปให้คนอื่นเช่าและได้ค่าเช่ามาจํานวน 50,000 บาท ค่าเช่าดังกล่าวเป็นดอกผลของสินส่วนตัวจึงถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (3) เมื่อนายหมาก ได้นําเงินค่าเช่าจํานวน 50,000 บาท ซึ่งเป็นสินสมรสไปให้นายเก่งกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยนั้น เป็นนิติกรรมตาม มาตรา 1476 (4) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อนางมน ไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการให้กู้ยืมเงินนั้น อีกทั้งนายเก่งก็ไม่ได้เสียค่าตอบแทนเพราะนายเก่งกู้ยืมเงินโดย ไม่ได้เสียดอกเบี้ย ดังนั้นนางมนจึงฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
สรุป
นางมนจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายหมากนําที่ดินที่เป็นสินสมรสไปจํานอง กับนายภพไม่ได้ แต่นางมนสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินได้
ข้อ 4 นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายเป็ด ต่อมานายไก่แอบไปจดทะเบียนสมรสกับนางห่าน เมื่อนางไข่ทราบโกรธนายไก่มากมีโอกาสจึงตัดอวัยวะเพศของนายไก่ ทิ้งลงแม่น้ำ
(1) นางห่านจะฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่
(2) เด็กชายเป็ดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”
มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทําให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”
มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันนั้น นายไก่และนางไข่จึงมิใช่สามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อนายไก่ได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางห่าน นายไก่กับนางห่านจึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย (ตามมาตรา 1457)
การที่นางไข่ตัดอวัยวะเพศของนายไก่ทิ้งลงแม่น้ำ ทําให้นายไก่มีสภาพแห่งกายที่ไม่ สามารถร่วมประเวณีได้ตลอดกาล ย่อมเข้าหลักเกณฑ์ที่เป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (10) ดังนั้น นางห่านภริยา จึงสามารถฟ้องหย่าได้
(2) เมื่อเด็กชายเป็ดเกิดจากนายไก่และนางไข่ที่มิได้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเด็กชายเป็ดจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางไข่แต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารกตาม มาตรา 1546
สรุป
(1) นางห่านฟ้องหย่านายไก่ได้
(2) เด็กชายเป็ดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางไข่แต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก