การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายสําเภาทําสัญญาหมั้น น.ส.นภาพรด้วยแหวนเพชร 1 วง ต่อมาได้ทราบว่า น.ส.นภาพรมีปัญหาทางร่างกายไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ นายสําเภาจึงอ้างเป็นเหตุสําคัญขอบอกเลิกสัญญาหมั้น และนายสําเภาได้ไปจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.ดวงตาแต่มาทราบภายหลังว่ามารดาของ น.ส.ดวงตา เป็นน้องสาวของบิดานายสําเภา บิดามารดาของนายสําเภาเห็นว่าไม่ถูกต้องจึงต้องการฟ้องศาล เช่นนี้ น.ส.นภาพรจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสําเภาได้หรือไม่ และการสมรสระหว่างนายสําเภากับ น.ส.ดวงตา มีผลเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437 วรรคแรก “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอัน เป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”
มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”
มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น”
มาตรา 1442 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทําให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย”
มาตรา 1450 “ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วม บิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทําการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิต โดยไม่คํานึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า น.ส.นภาพรจะฟ้องเรียก ค่าทดแทนจากนายสําเภาได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายสําเภาได้ทําสัญญาหมั้น น.ส.นภาพรด้วยแหวนเพชร 1 วง นั้น เมื่อมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงแล้ว ย่อมเป็นการหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก ดังนั้น หาก ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทนได้ (มาตรา 1439)
อย่างไรก็ตาม หากกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ชายคู่หมั้นย่อมมีสิทธิบอกเลิก สัญญาหมั้นได้ตามมาตรา 1442 แต่เหตุสําคัญที่เกิดขึ้นนี้จะต้องมีความสําคัญต่อชายคู่หมั้นถึงขนาดไม่สมควร สมรสกับหญิงนั้น เช่น หญิงคู่หมั้นเกิดอุบัติเหตุขาขาดทั้ง 2 ข้าง ไม่สามารถร่วมหลับนอนกับตนได้ เป็นต้น
ตามข้อเท็จจริง การที่นายสําเภาทราบว่า น.ส.นภาพรมีปัญหาทางร่างกายไม่สามารถ ตั้งครรภ์ได้เพียงเท่านี้นายสําเภาจะอ้างเป็นเหตุสําคัญขอบอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 ไม่ได้ เพราะเหตุ ดังกล่าวยังไม่สําคัญถึงขนาดที่นายสําเภาไม่สมควรสมรสกับ น.ส.นภาพร ดังนั้น เมื่อนายสําเภาได้จดทะเบียน สมรสกับ น.ส.ดวงตาจึงเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 น.ส.นภาพรจึงสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทน ความเสียหายต่อชื่อเสียงของตนจากนายสําเภาได้ตามมาตรา 1440(1)
และประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า การสมรสระหว่างนายสําเภากับ น.ส.ดวงตาจะ มีผลเป็นอย่างไร เห็นว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1450 และจะตกเป็นโมฆะนั้น จะต้องเป็นการสมรสกันระหว่าง ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือเป็นการสมรสกันระหว่างพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดา หรือมารดา ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามารดาของ น.ส.ดวงตามีฐานะเป็นอาของนายสําเภา น.ส.ดวงตากับ นายสําเภาจึงมิได้เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดา หรือมารดาเดียวกันแต่อย่างใด ดังนั้นการสมรสระหว่างนายสําเภากับ น.ส.ดวงตาจึงไม่เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 1450 และการสมรสมีผลสมบูรณ์
สรุป น.ส.นภาพรจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสําเภาได้ และการสมรสระหว่างนายสําเภา กับ น.ส.ดวงตามีผลสมบูรณ์
ข้อ 2 น.ส.นิสาจดทะเบียนสมรสกับนายร่าเริง โดยไม่ทราบว่านายร่าเริงมีภริยาโดยชอบอยู่ก่อนแล้วนายร่าเริงทํางานได้รับค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท และให้ น.ส.นิสาลาออกจากงานโดยนายร่าเริง ให้เงิน น.ส.นิสาใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ภายหลังการสมรส 5 เดือน น.ส.นิสาทราบความจริง ว่านายร่าเริงมีภริยาแล้วก็เสียใจมาก น.ส.นิสาได้กลับไปคืนดีกับนายสุภาพเพื่อนเก่าที่ชอบพอกัน จนตกลงจดทะเบียนสมรสกัน และได้ยื่นฟ้องศาลให้การสมรสกับนายร่าเริงมีผลเป็นโมฆะด้วย ถ้า ในระหว่างการสมรสของ น.ส.นิสากับนายร่าเริง นายร่าเริงซื้อสลากกินแบ่งได้รับรางวัล 2 ล้านบาท ส่วน น.ส.นิสามีสลากออมสินก่อนสมรส 2 แสนบาท แต่มาได้รางวัลระหว่างสมรส 4 ล้านบาท เช่นนี้ ก่อนที่ศาลมีคําพิพากษาและภายหลังที่ศาลมีคําพิพากษา จะมีผลต่อทรัพย์สินต่าง ๆทั้งหมดอย่างไร และการสมรสมีผลอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”
มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส”
มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”
มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”
มาตรา 1497 “การสมรสที่เป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใด คนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้นหรือจะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะก็ได้”
มาตรา 1498 “การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรส รวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทํามาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะ เห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว ภาระในการหาเลี้ยงชีพ และฐานะของคู่กรณี ทั้งสองฝ่ายตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว”
มาตรา 1499 วรรคสอง “การสมรสที่เป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1452 ไม่ทําให้ชายหรือ หญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นรู้ถึงเหตุที่ทําให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะดังกล่าว ไม่ทําให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ น.ส.นิสาจดทะเบียนสมรสกับนายร่าเริง โดยที่นายร่าเริงมีภริยา โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้วนั้น ย่อมถือเป็นการสมรสซ้อนอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1452 การสมรสระหว่าง น.ส.นิสากับนายร่าเริงจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 และเมื่อ น.ส.นิสาได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนายสุภาพ การสมรสจึงมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1497 ไม่ถือว่าเป็นการสมรสซ้อน เพราะการสมรสครั้งแรกตกเป็นโมฆะแล้ว
และการที่ น.ส.นิสาได้ยื่นฟ้องศาลให้การสมรสกับนายร่าเริงมีผลเป็นโมฆะนั้น ก่อนที่ศาลจะ มีคําพิพากษาและภายหลังที่ศาลมีคําพิพากษาจะมีผลต่อทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งหมดของ น.ส.นิสาและนายร่าเริงดังนี้คือ
1 เงินค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 20,000 บาท ที่ น.ส.นิสาได้รับจากนายร่าเริงระหว่าง การสมรสนั้นตกเป็นของ น.ส.นิสา และเมื่อศาลพิพากษาให้การสมรสเป็นโมฆะ น.ส.นิสาไม่ต้องคืนให้กับ นายร่าเริงตามมาตรา 1498 เพราะ น.ส.นิสาทําการสมรสกับนายร่าเริงโดยสุจริต คือ ไม่ทราบว่านายร่าเริงมีคู่ สมรสอยู่ก่อนแล้ว จึงได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1499 วรรคสอง แต่ น.ส.นิสาจะได้รับการคุ้มครองเพียง ก่อนที่จะรู้ถึงเหตุดังกล่าวเท่านั้น
2 เงินเดือนและรางวัลจากสลากกินแบ่ง 2 ล้านบาทของนายร่าเริง ที่นายร่าเริงได้รับมา ในระหว่างสมรสนั้น ถือเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474(1) แต่เมื่อการสมรสมีผลเป็นโมฆะ จึงไม่ก่อให้เกิด ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อศาลมีคําพิพากษาให้การสมรสเป็นโมฆะแล้ว เงินเดือนของนายร่าเริงและรางวัล 2 ล้านบาทดังกล่าวจึงกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนายร่าเริงตามมาตรา 1498 วรรคสอง
3 สลากออมสินที่ น.ส.นิสามีอยู่ก่อนสมรส 2 แสนบาท ถือเป็นสินส่วนตัวของ น.ส.นิสา ตามมาตรา 1471(1) ส่วนรางวัลจากสลากออมสิน 4 ล้านบาทนั้น น.ส.นิสาได้รับมาในระหว่างการสมรสจึงถือเป็น สินสมรสตามมาตรา 1474(1) และเมื่อการสมรสมีผลเป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่าง สามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อศาลมีคําพิพากษาให้การสมรสเป็นโมฆะแล้ว สลากออมสิน 2 แสนบาท และรางวัลจากสลากออมสิน 4 ล้านบาท จึงกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของ น.ส.นิสาตามมาตรา 1498 วรรคสอง
สรุป การสมรสระหว่าง น.ส.นิสากับนายร่าเริงมีผลเป็นโมฆะ และก่อนที่ศาลจะมีคําพิพากษา และภายหลังที่ศาลมีคําพิพากษา จะมีผลต่อทรัพย์สินต่าง ๆ ทั้งหมดของ น.ส.นิสาและนายร่าเริงอย่างไรนั้น เป็นไปตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3 นายมานพได้อยู่กินฉันสามีภริยากับ น.ส.อรสา แต่ต่อมาได้ตัดสินใจจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.นิภา ซึ่งเป็นเพื่อนที่รู้จักกันดีกับ น.ส.อรสา หลายเดือนต่อมา นายมานพได้กลับไปอยู่กินกับ น.ส.อรสา อีกโดยอ้างว่า น.ส.อรสาได้ตั้งครรภ์กับตน และอ้างว่า น.ส.นิภาก็ทราบเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว เพราะเป็นเพื่อนที่รู้จักกัน น.ส.นิภาไม่พอใจต้องการฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนจากนายมานพและ น.ส.อรสาด้วย แต่นายมานพอ้างว่า น.ส.นิภาได้รู้เห็นยินยอมก่อนสมรสอยู่แล้ว เช่นนี้ ท่านเห็นว่า อย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(3) สามีหรือภริยาทําร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยาม อีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทําการ เป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทํานั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อน เกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคํานึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้”
มาตรา 1517 วรรคแรก “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยา แล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยก เป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้”
มาตรา 1523 วรรคแรก “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) ภริยา หรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสา เหตุแห่งการหย่านั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมานพได้จดทะเบียนสมรสกับ น.ส.นิภา และต่อมานายมานพ ได้กลับไปอยู่กินกับ น.ส.อรสานั้น ถือว่าเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1)(2)(3)(6) ดังนั้น น.ส.นิภาจึง ฟ้องหย่านายมานพได้ ถึงแม้ว่า น.ส.นิภาจะทราบก่อนสมรสว่านายมานพได้อยู่กินกับ น.ส.อรสาก็ตาม แต่จะ ถือว่า น.ส.นิภายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้นายมานพมีภริยาอีกคนหนึ่งหาได้ไม่ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะทําให้ น.ส.นิภายกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ตามมาตรา 1517 วรรคแรก แต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ตาม น.ส.นิภาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมานพและ น.ส.อรสา ทันทีเลย ไม่ได้ น.ส.นิภาจะต้องรอให้ศาลพิพากษาให้หย่ากันตามมาตรา 1516(1) เสียก่อน จึงจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก นายมานพและ น.ส.อรสาได้ตามมาตรา 1523 วรรคแรก
สรุป ข้าพเจ้าเห็นว่า น.ส.นิภาสามารถฟ้องหย่านายมานพได้ และสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทน จากนายมานพและ น.ส.อรสาได้ เมื่อศาลได้พิพากษาให้หย่ากันตามมาตรา 1516(1) แล้ว
ข้อ 4 นายสุรพลกับนางรัชนีเป็นสามีภริยากัน ต่อมานางรัชนีเจ็บป่วยบ่อย ๆ จึงลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว แต่เพื่อให้นายสุรพลสามีทํางานได้อย่างคล่องตัว นางรัชนีจึงทําหนังสือ มอบอํานาจให้นายสุรพลมีอํานาจในการจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่ผู้เดียว ต่อมานายสุรพลได้ไปกู้เงิน จากนายรุ่งเรือง 4 ล้านบาท ได้ทําสัญญาให้เพื่อนร่วมงานเช่าบ้านสินสมรสมีกําหนดเวลา 3 ปี และได้ขายที่ดินที่บิดายกให้ในระหว่างสมรสให้แก่ น.ส.ปราณี ซึ่งเคยชอบพอกันมาก่อน เมื่อ นางรัชนีทราบก็ไม่พอใจต้องการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดโดยอ้างว่าไม่ได้ให้ความยินยอม แต่นายสุรพลอ้างว่ามีอํานาจทําได้ เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”
มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”
มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีก ฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิ เหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อ การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”
มาตรา 1476/1 วรรคแรก “สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และ มาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส”
มาตรา 1480 วรรคแรก “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับ ความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดย ปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่ คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดย สุจริตและเสียค่าตอบแทน”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย การจัดการสินสมรสตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 1476(1) – (8) นั้น สามีภริยา จะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียง ฝ่ายเดียวโดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้นอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม นั้นได้ตามมาตรา 1480 วรรคแรก แต่อย่างไรก็ตาม สามีภริยาอาจตกลงจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจาก ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ก็ได้โดยทําเป็นสัญญาก่อนสมรสตามมาตรา 1476/1 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางรัชนีทําหนังสือมอบอํานาจให้นายสุรพลมีอํานาจในการจัดการ สินสมรสทั้งหมดแต่ผู้เดียวนั้น สัญญาระหว่างสมรสดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้ เพราะตามกฎหมายถ้าสามีภริยาจะ จัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้เท่านั้น (มาตรา 1476/1 วรรคแรก)
ดังนั้นการที่นายสุรพลได้ทํานิติกรรมต่าง ๆ ตามอุทาหรณ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนาง รัชนีนั้น นางรัชนีจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
การที่นายสุรพลได้ไปกู้เงินจากนายรุ่งเรือง 4 ล้านบาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางรัชนีนั้น เมื่อเป็นเพียงการกู้ยืมเงินมิใช่การให้กู้ยืมเงินอันจะเป็นการจัดการสินสมรส จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1476 ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น นายสุรพลจึงมีอํานาจ ในการไปกู้ยืมเงินดังกล่าวได้โดยลําพัง นางรัชนีจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการกู้ยืมเงินไม่ได้
การที่นายสุรพลได้ทําสัญญาให้เพื่อนร่วมงานเช่าบ้านสินสมรสมีกําหนดเวลา 3 ปีนั้น เมื่อมิได้ เป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี จึงไม่ใช่นิติกรรมตามมาตรา 1476(3) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือ ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น นายสุรพลจึงมีอํานาจในการจัดการให้เพื่อนร่วมงานเช่า บ้านที่เป็นสินสมรสได้โดยลําพัง นางรัชนีจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่าบ้านไม่ได้
ส่วนที่ดินที่บิดายกให้นายสุรพลระหว่างสมรสนั้น ถือว่าเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471(3) นายสุรพลจึงมีอํานาจในการจัดการสินส่วนตัวนั้นตามมาตรา 1473 ดังนั้น เมื่อนายสุรพลได้ขายที่ดินแปลง ดังกล่าวให้แก่ น.ส.ปรานี้ แม้จะไม่ได้รับความยินยอมจากนางรัชนี นางรัชนีก็จะฟ้องให้ศาลเพิกถอน นิติกรรมการขายที่ดินของนายสุรพลไม่ได้
สรุป ข้าพเจ้าเห็นว่า นายสุรพลมีอํานาจทํานิติกรรมทั้ง 3 อย่างดังกล่าวได้ และนางรัชนี จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายสุรพลทําไปทั้งหมดไม่ได้