การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. เมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 กิจการค้าขายเครื่องมือขุดเจาะน้ำมันโดยนายโตเป็นผู้ประกอบการ กิจการฯก่อหนี้ค่าโฆษณาค้างชําระนายฟาดีจํานวน 100 ล้านบาท ต่อมากิจการฯ ได้ว่าจ้างนางใจงาม เป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดมีลูกน้องใต้บังคับบัญชา 100 คน นางใจงามใช้ความรู้ความสามารถ ของตนเพิ่มยอดสั่งซื้อสินค้าให้แก่กิจการฯ ปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท นายโตจึงทําข้อตกลง “แบ่งกําไร” ให้แก่นางใจงาม 40 เปอร์เซ็นต์ของกําไรของกิจการฯ ทุก ๆ ปี เพื่อตอบแทนความเพียร ของนางใจงาม ต่อมากลางปี พ.ศ. 2561 กิจการฯ ก่อหนี้ค่าขนส่งค้างชําระนายโทนี่อีกจํานวน 200 ล้านบาท และต่อมาปลายปี พ.ศ. 2561 นางใจงามได้ตกลงกันร่วมลงทุนกับนายโปโปเพื่อดําเนินกิจการ ค้าขายเครื่องมือขุดเจาะน้ำมันเป็นกิจการฯ ใหม่แข่งขันกับกิจการฯ เดิม เพื่อหากําไรแบ่งปันกัน ระหว่างนางใจงามกับนายโปโป เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2561 กิจการฯ ใหม่ มีกําไร 1,000 ล้านบาท และ กิจการใหม่ก่อหนี้ค่าเช่าสถานที่ค้างชําระนายฟาดีจํานวน 300 ล้านบาท ให้ท่านวินิจฉัยประเด็นปัญหาข้อกฎหมายดังต่อไปนี้ พร้อมทั้งแสดงเหตุผลและหลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบการวินิจฉัย

(ก) นายฟาดี และนายโทนี่ มีสิทธิบังคับชําระหนี้ทั้งสามรายการต่อบุคคลใด เพราะเหตุใด

(ข) นางใจงาม จะต้องรับผิดต่อกิจการฯ เพิ่ม หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1012 “อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทํากิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทํานั้น”

มาตรา 1025 “อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด”

มาตรา 1038 “ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความ ยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกําไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหาย เพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทําการฝ่าฝืน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายโตเป็นผู้ประกอบการกิจการค้าขายเครื่องมือขุดเจาะน้ำมัน ได้ว่าจ้างนางใจงาม เป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดโดยมีลูกน้องใต้บังคับบัญชา 100 คนนั้น ถือเป็นเพียงสัญญาจ้างแรงงานเท่านั้น โดยนายโตอยู่ในฐานะนายจ้าง ส่วนนางใจงามอยู่ในฐานะลูกจ้าง แม้นางใจงามได้ใช้ความรู้ความสามารถของตน เพิ่มยอดสั่งซื้อสินค้าปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท และนายโตได้ทําข้อตกลงแบ่งกําไรให้แก่นางใจงาม 40 เปอร์เซ็นต์ ของกําไรของกิจการฯ ทุก ๆ ปีก็ตาม ก็ไม่ทําให้นายโตกับนางใจงามเป็นหุ้นส่วนกันตามนัยของมาตรา 1012 เหตุผลเพราะแม้ว่านางใจงามจะได้รับส่วนแบ่งกําไรจากกิจการฯ แต่นางใจงามก็ไม่มีสิทธิไม่มีส่วนร่วมในการจัด กิจการงานนั้นแต่อย่างใด

เมื่อนางใจงามมิใช่หุ้นส่วนกับนายโต ดังนั้นการที่กิจการฯ ของนายโตเป็นหนี้ค้างชําระ นายฟาดีจํานวน 100 ล้านบาท และเป็นหนี้ค้างชําระนายโทนี่อีกจํานวน 200 ล้านบาท นายฟาดีและนายโทนี่ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จึงต้องฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากนายโตเท่านั้น จะฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจากนางใจงามไม่ได้

ส่วนการที่นางใจงามได้ตกลงกันร่วมลงทุนกับนายโปโปโดยดําเนินกิจการค้าขาย เครื่องมือขุดเจาะน้ำมันเป็นกิจการใหม่ เพื่อหากําไรแบ่งปันกันระหว่างนางใจงามกับนายโปโปนั้น ถือว่าข้อตกลง ระหว่างนางใจงามกับนายโปโปเป็นสัญญาเข้าหุ้นส่วนกันแล้วตามนัยของมาตรา 1012 ดังนั้นเมื่อกิจการ ดังกล่าวเป็นหนี้ค้างชําระนายฟาดีจํานวน 300 ล้านบาท หนี้รายนี้นายฟาดีจึงสามารถฟ้องบังคับชําระหนี้เอาจาก นางใจงามและนายโปโปได้ตามมาตรา 1912 ประกอบมาตรา 1025 ที่ว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดร่วมกัน เพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน

(ข) การที่นางใจงามได้ตกลงเข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับนายโปโปดําเนินกิจการค้าขายเครื่องมือ ขุดเจาะน้ำมันเป็นกิจการใหม่นั้น แม้เป็นกิจการที่มีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับกิจการของนายโตก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่านางใจงามมิได้เป็นหุ้นส่วนกับนายโต การกระทําดังกล่าวของนางใจงามจึงมิใช่เป็นการกระทําที่ฝ่าฝืน ต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 แต่อย่างใด ดังนั้นนางใจงามจึงไม่ต้องรับผิดต่อกิจการฯ เดิม

สรุป

(ก) นายฟาดีมีอํานาจฟ้องบังคับชําระหนี้จํานวน 100 ล้านบาท จากนายโตได้ส่วนหนี้รายหลังจํานวน 300 ล้านบาท นายฟาดีมีอํานาจฟ้องบังคับชําระหนี้ เอาจากนางใจงามและนายโปโปได้ นายโทนี่มีอํานาจฟ้องบังคับชําระหนี้จํานวน 200 ล้านบาท จากนายโตได้แต่จะฟ้องบังคับเอาจากนางใจงามไม่ได้

(ข) นางใจงามไม่ต้องรับผิดต่อกิจการฯ เดิม

 

ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด”อย่างน้อย 12 ประเด็น พร้อมทั้งอธิบายหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบ

ธงคําตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วน ไม่จํากัดความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ

1 หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)

2 หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้น เท่านั้น (มาตรา 1077)

3 หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะต้องรับผิด โดยไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น (มาตรา 1079)

4 หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)

5 หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้นด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)

6 หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วน ทํามาค้าได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้ บัญญัติห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วน ทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)

7 หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่า ตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตน หรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดไว้ด้วย (มาตรา 1085)

8 หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงาน ของห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)

9 หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือจะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบ กิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)

10 หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความ ยืนยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)

11 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคน ไร้ความสามารถ โดยหลักห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมเป็นอันเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้า ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความสามารถไม่เป็นเหตุให้ ห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)

12 เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความ รับผิดคนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้ เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)

 

ข้อ 3. ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องดังต่อไปนี้โดยละเอียดพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

(ก) การโอน “หุ้นระบุชื่อ” และ “หุ้นผู้ถือ” มีหลักเกณฑ์อย่างไร

(ข) การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมีหลักเกณฑ์อย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ และการโอนหุ้นชนิดผู้ถือไว้ดังนี้ คือ

1 การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ การโอนจะสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 1129 วรรคสอง คือ การโอนจะต้องทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานอย่างน้อยหนึ่งคน ลงลายมือชื่อรับรอง และต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

ตัวอย่างเช่น นาย ก. มีหุ้นชนิดระบุชื่อในบริษัทแห่งหนึ่งจํานวน 10,000 หุ้น และ มีหุ้นชนิดผู้ถืออีกจํานวน 10,000 หุ้น ดังนี้ ถ้านาย ก. จะโอนหุ้นชนิดระบุชื่อให้แก่นาย ข. นาย ก. และนาย ข. จะต้องทําเป็นหนังสือสัญญาการโอนหุ้น ลงลายมือชื่อของนาย ก. ผู้โอนและนาย ข. ผู้รับโอน และมีพยานอย่างน้อย หนึ่งคนลงลายมือชื่อรับรอง และต้องแถลงเลขหมายของหุ้นที่โอนให้แก่กันด้วย (เว้นแต่จะเป็นการโอนหุ้นทั้งหมด) การโอนหุ้นระหว่างนาย ก. และนาย ข. จึงจะสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ

2 การโอนหุ้นชนิดผู้ถือ การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบใบหุ้นให้แก่กันเท่านั้น (ตาม มาตรา 1135) โดยไม่ต้องทําเป็นหนังสือสัญญาการโอนหุ้นใด ๆ

ตัวอย่างเช่น กรณีตามตัวอย่างข้างต้น ถ้านาย ก. มีความประสงค์จะโอนหุ้นชนิดผู้ถือ จํานวน 10,000 หุ้นให้แก่นาย ค. นาย ก. ย่อมสามารถโอนได้โดยการส่งมอบใบหุ้นให้แก่นาย ค. การโอนก็จะ มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

(ข) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น ไว้ดังนี้คือ

1 การประชุมใหญ่สามัญ คือ การประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้น ซึ่งบริษัทจะต้องจัดให้มีขึ้น เป็นครั้งแรกภายในกําหนดระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันจดทะเบียนบริษัท และในครั้งต่อ ๆ ไปซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้น อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (มาตรา 1171)

2 การประชุมใหญ่วิสามัญ คือ การประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้น ซึ่งได้เรียกประชุมกัน เป็นพิเศษต่างหากจากการประชุมใหญ่สามัญ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น การประชุมใหญ่ วิสามัญอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ

(1) เมื่อกรรมการเห็นสมควร ตามมาตรา 1172 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “กรรมการ จะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร”

(2) เมื่อบริษัทขาดทุนลงถึงถึงจํานวนต้นทุน ตามมาตรา 1172 วรรคสอง ซึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าบริษัทขาดทุนลงถึงกึ่งจํานวนต้นทุน กรรมการต้องเรียกประชุมวิสามัญทันที่เพื่อแจ้งให้ผู้ถือหุ้น ทราบการที่ขาดทุนนั้น”

(3) เมื่อผู้ถือหุ้นมีจํานวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ร้องขอให้เรียกประชุม ตามมาตรา 1173 ซึ่งบัญญัติว่า “การประชุมวิสามัญจะต้องนัดเรียกให้มีขึ้น ในเมื่อผู้ถือหุ้นมีจํานวนหุ้นรวมกัน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าแห่งจํานวนหุ้นของบริษัท ได้เข้าชื่อกันทําหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมเช่นนั้น ในหนังสือ ร้องขอนั้นต้องระบุว่าประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด”

(4) เมื่อตําแหน่งผู้สอบบัญชีว่างลง ตามมาตรา 1211 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้ามีตําแหน่ง ว่างลงในจํานวนผู้สอบบัญชี ให้กรรมการนักเรียกประชุมวิสามัญเพื่อให้เลือกตั้งขึ้นใหม่ให้ครบจํานวน

Advertisement