การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 สมศักดิ์เข้าหุ้นกับสมชายโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนมีวัตถุประสงค์รับซื้อ-ขายยางพารา ทั้งสองตกลงกันให้สมศักดิ์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กิจการของห้างหุ้นส่วนมีกําไรดีทุกปี สมชาย ต้องการประกอบกิจการรับซื้อ-ขายยางพาราบ้างแต่ก็เกรงใจสมศักดิ์ ต่อมาแนบชิดได้ชักชวน สมชายลงหุ้นกับตนตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัดรับซื้อ-ขายยางพารา สมชายก็ตกลงและนําเงินมาลงหุ้น กับแนบชิด 3 แสนบาท และจดทะเบียนเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ส่วนแนบชิดเป็นหุ้นส่วน จําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยห้างหุ้นส่วนจํากัดที่ตั้งใหม่นี้อยู่ใกล้เคียงกัน กับห้างหุ้นส่วนสามัญที่สมศักดิ์เข้าหุ้นกับสมชาย สมศักดิ์จึงกล่าวหาสมชายว่า สมชายประกอบกิจการ แข่งขันกับห้างฯ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่นด้วย จึงเรียกร้องให้สมชายรับผิดชดใช้ ค่าเสียหายที่ทําให้ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างสมศักดิ์กับสมชายมีกําไรลดลง ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า สมชายต้องรับผิดต่อสมศักดิ์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1038 “ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความ ยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะ เรียกเอาผลกําไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทําการฝ่าฝืน”

วินิจฉัย

บทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคแรกนั้น จะห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งมีสภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น แต่ไม่ได้ห้ามรวมไปถึงกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วน ได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม โดยที่ตนมิได้เข้าไป เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือลงมือจัดการงานด้วยตนเองแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สมชายได้เข้าหุ้นกับแนบชิดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัดรับซื้อ-ขาย ยางพารานั้น แม้ห้างหุ้นส่วนจํากัดที่ตั้งขึ้นใหม่จะประกอบกิจการซึ่งมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขัน กับกิจการของห้างหุ้นส่วนเดิมที่สมชายเป็นหุ้นส่วนอยู่ก็ตาม แต่การที่สมชายเข้าไปเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัด ความรับผิด ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการงานของห้างฯ โดยตรง และสมชายก็มิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้าง หุ้นส่วนจํากัด เพราะในห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น เฉพาะหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดเท่านั้นที่จะจัดการงาน ของห้างหุ้นส่วนจํากัดได้ เมื่อสมชายนําเงินมาลงหุ้นกับแนบชิดแต่เพียงอย่างเดียวมิได้ร่วมจัดการงานด้วย จึงไม่อาจถือได้ว่าสมชายได้กระทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคแรก คือได้ประกอบกิจการซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนที่ตนเป็นหุ้นส่วนอยู่ ดังนั้นข้อกล่าวหาของสมศักดิ์ที่ได้กล่าวหา สมชายว่า สมชายได้ประกอบกิจการแข่งขันกับห้างฯ จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ฟังไม่ขึ้น สมศักดิ์จึงเรียกร้องให้สมชาย รับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่ทําให้ห้างฯ มีกําไรลดลงไม่ได้

สรุป สมชายไม่ต้องรับผิดต่อสมศักดิ์

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดอุทิศธรรม มีนายอุทิศเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดลงหุ้นไว้เป็นเงิน 2 แสนบาท ส่วนนายบุญธรรมเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจํากัดนี้มีวัตถุประสงค์จําหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ทุกชนิด นายอุทิศได้แนะนํานายบุญธรรม ให้ซื้อผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม (สีเหลืองแก่) มาจําหน่ายในห้างฯ และไม่ควรซื้อสีกรัก (น้ำตาลเข้ม) มาจําหน่ายในห้างฯ นายบุญธรรมก็ได้ซื้อผ้าไตรจีวรสีเหลืองแก่มาจําหน่ายในห้างฯ แต่ปรากฏว่า ขายไม่ดี เนื่องจากพระสงฆ์นิยมนุ่งห่มจีวรสีน้ำตาลเข้มมากกว่าสีเหลืองแก่ ห้างฯ จึงเป็นหนี้ค่าผ้าไตร จีวรจํานวน 3 แสนบาท และไม่มีเงินชําระหนี้รายนี้ นายบุญธรรมจึงต่อว่านายอุทิศที่แนะนําตน ทําให้นายอุทิศไม่พอใจจึงโอนหุ้นของตนทั้งหมดให้นางสาวอุษาและจดทะเบียนออกจากห้างหุ้นส่วนจํากัด ไปได้สองเดือนแล้ว ดังนี้ เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจํากัดจะเรียกร้องให้นายอุทิศรับผิดในหนี้ของห้างฯ ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”

มาตรา 1068 “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”

มาตรา 1080 วรรคแรก “บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นํามาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจํากัดด้วย”

มาตรา 1082 วรรคแรก “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดคนใดยินยอมโดย แสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อ บุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดฉะนั้น”

มาตรา 1088 วรรคแรก “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จํากัด จํานวน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดอุทิศธรรม เป็นหนี้ค่าผ้าไตรจีวรที่นายบุญธรรมได้ ซื้อเข้ามาขายในห้างฯ ตามคําแนะนําของนายอุทิศเป็นเงินจํานวน 3 แสนบาทนั้น แม้ว่าการที่นายอุทิศได้แนะนําแก่ นายบุญธรรมนั้น จะไม่ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ ตามมาตรา 1088 วรรคแรกก็ตาม แต่การที่นายอุทิศซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้ยินยอมให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน จํากัดอุทิศธรรม นายอุทิศจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ จํานวนดังกล่าวด้วย เสมือนว่าตนเป็นหุ้นส่วนจําพวก ไม่จํากัดความรับผิดตามมาตรา 1082 วรรคแรก

และแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ต่อมานายอุทิศจะได้โอนหุ้นของตนทั้งหมดให้นางสาวอุษา และจดทะเบียนออกจากห้างหุ้นส่วนจํากัดไปแล้ว แต่เมื่อหนี้ค่าผ้าไตรจีวรนั้นได้เกิดขึ้นก่อนที่นายอุทิศจะได้ออกจาก หุ้นส่วนไป นายอุทิศจึงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวด้วยตามมาตรา 1051 ประกอบมาตรา 1080 วรรคแรก และเมื่อ ปรากฏว่านายอุทิศได้ออกจากห้างหุ้นส่วนจํากัดไปยังไม่เกิน 2 ปี เจ้าหนี้ของห้างฯ จึงสามารถเรียกร้องให้นายอุทิศ รับผิดในหนี้รายนี้ได้ตามมาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคแรก

สรุป เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจํากัดอุทิศธรรม สามารถเรียกร้องให้นายอุทิศรับผิดในหนี้ ค่าผ้าไตรจีวรจํานวน 3 แสนบาทได้

 

ข้อ 3. ข้อบังคับของบริษัท อัมรินทร์ จํากัด มีว่า “ห้ามผู้ถือหุ้นของบริษัทโอนหุ้นทุกชนิดของตนให้แก่บุคคลภายนอก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการบริษัทก่อนจึงจะโอนได้” ข้อบังคับนี้ได้ จดทะเบียนและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ต่อมานางสาวสกุนตลาผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัท ดังกล่าว ซึ่งถือหุ้นผู้ถือ (ไม่ระบุชื่อ) จํานวน 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท และต้องการโอนหุ้น ให้นายศารินทร์ทั้งหมด เนื่องจากตนเป็นหนี้นายศารินทร์ 1,000,000 บาท จึงได้ยื่นขออนุญาตโอนหุ้น ต่อคณะกรรมการบริษัท แต่คณะกรรมการฯ มีมติไม่อนุญาตให้โอนหุ้น โดยอ้างว่านายศารินทร์เป็น คู่แข่งทางการค้าของบริษัท ไม่สมควรจะมาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ดังนี้ ถ้านางสาวสกุนตลา มาปรึกษาท่านว่า มติของคณะกรรมการนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และนางสาวสกุนตลาจะโอนหุ้นผู้ถือดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ท่านแนะนํานางสาวสกุนตลาด้วย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1129 วรรคแรก “อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1135 “หุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้เพียงด้วยส่งมอบใบหุ้น แก่กัน”

วินิจฉัย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การที่ผู้ถือหุ้นในบริษัทจํากัดจะโอนหุ้นของตนให้แก่ บุคคลอื่นนั้นย่อมสามารถโอนได้เสมอโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท เว้นแต่ถ้าเป็นหุ้น “ชนิดระบุชื่อ” ซึ่งมี ข้อบังคับของบริษัทได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท อัมรินทร์ จํากัด ได้ออกข้อบังคับในเรื่องการโอนหุ้นไว้ว่า “ห้ามผู้ถือหุ้นของบริษัทโอนหุ้นทุกชนิดของตนให้แก่บุคคลภายนอก เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการบริษัทก่อน จึงจะโอนได้” นั้น ข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวสามารถใช้บังคับได้ แต่จะใช้บังคับได้เฉพาะการโอนหุ้นที่เป็นหุ้น ชนิดระบุชื่อเท่านั้น จะนํามาใช้บังคับกับหุ้นผู้ถือไม่ได้ตามมาตรา 1129 วรรคแรก

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางสาวสกุนตลาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัทดังกล่าว ได้ ถือหุ้นผู้ถือจํานวน 10,000 หุ้น และต้องการโอนหุ้นให้แก่นายศารินทร์ทั้งหมด นางสาวสกุนตลาย่อมสามารถทําได้ โดยการส่งมอบใบหุ้นให้แก่นายศารินทร์ผู้รับโอนตามมาตรา 1135 การที่นางสกุนตลาได้ยื่นขออนุญาตโอนหุ้นต่อ คณะกรรมการบริษัท แต่คณะกรรมการบริษัทมีมติไม่อนุญาตให้โอนหุ้นนั้น มติของคณะกรรมการบริษัทที่ไม่อนุญาต ให้โอนหุ้นผู้ถือจึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดกับมาตรา 1129 วรรคแรก

สรุป มติของคณะกรรมการบริษัทดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนางสาวสกุนตลาสามารถ โอนหุ้นผู้ถือของตนได้ โดยการส่งมอบใบหุ้นให้แก่นายสารินทร์

Advertisement