การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. เอก โท และตรี ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยลงหุ้นกันคนละ 1 ล้านบาท จัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (จดทะเบียน) มีเอกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนนี้มีวัตถุประสงค์ค้าขายวัสดุก่อสร้าง ดําเนินกิจการมาได้สองปีเศษก็ขาดเงินสดหมุนเวียน เอกจึงได้ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาสองล้านบาท เพื่อนํามาเป็นทุนหมุนเวียนในห้างฯ ต่อมาตรีได้โอนหุ้นของตนทั้งหมดให้จัตวา และได้จดทะเบียน ออกจากห้างหุ้นส่วนไปโดยจดทะเบียนให้จัตวาเข้ามาเป็นหุ้นส่วนแทน ซึ่งเอกและโทก็ไม่ขัดข้อง ตรีได้ออกมาจากห้างฯ เป็นเวลาสามปีกว่าแล้ว หนี้เงินกู้ที่ธนาคารเป็นเจ้าหนี้ก็ได้ถึงกําหนดชําระ แต่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไม่มีเงินชําระหนี้ ดังนี้ ธนาคารจะฟ้องเอก, โท ตรี และจัตวา ให้รับผิด ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1050 “การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดา การค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิด ร่วมกันโดยไม่จํากัดจํานวนในการชําระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น”
มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”
มาตรา 1052 “บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย”
มาตรา 1068 “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 1050 ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีของห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วน ทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดในบรรดาหนี้สินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ได้จัดทําไป ในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน และนอกจากนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ออกจาก หุ้นส่วนไปแล้ว ก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไปด้วยตาม มาตรา 1051 และบุคคลผู้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหม่ในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้น ก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยตามมาตรา 1052
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกได้ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อนํามาเป็นทุนหมุนเวียนในห้างฯ นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่เอกได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ดังนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจึงต้อง ร่วมกันรับผิดในหนี้รายนี้ตามมาตรา 1050
สําหรับตรีนั้น แม้จะได้โอนหุ้นของตนทั้งหมดให้จัตวาและได้จดทะเบียนออกจากห้างหุ้นส่วนไป โดยหลักแล้วก็จะต้องรับผิดในหนี้เงินกู้รายนี้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่ตรีจะได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา 1051 แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (จดทะเบียน) และตรีได้ออกจากการเป็น หุ้นส่วนไปเป็นเวลาสามปีกว่าคือเกินสองปีแล้ว ดังนั้นตรีจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้เงินกู้รายนี้อีกต่อไปตามมาตรา 1068
ส่วนจัตวานั้น เมื่อได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนแทนตรี จึงมีผลตามมาตรา 1052 คือ จัตวาจะต้องรับผิด ในหนี้เงินกู้รายนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย ดังนั้นเมื่อหนี้เงินกู้รายนี้ได้ถึงกําหนดชําระ แต่ห้างฯ ไม่มีเงินชําระหนี้ ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้เอก โท และจัตวา รับผิดในหนี้เงินกู้รายนี้ได้ แต่จะฟ้อง ให้ตรีรับผิดไม่ได้
สรุป ธนาคารสามารถฟ้องเอก โท และจัตวา ให้รับผิดได้ แต่จะฟ้องให้ตรีรับผิดไม่ได้
ข้อ 2. สมบัติ และสําอางตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยจะต้องลงหุ้นกันคนละหนึ่งล้านบาท เพื่อจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด ทั้งนี้ สมบัติได้นําเงินมาลงหุ้นครบถ้วนหนึ่งล้านบาทแล้ว และขอเป็นหุ้นส่วน จําพวกจํากัดความรับผิด ส่วนสําอางยังมิได้นําเงินมาลงหุ้นเลย แต่ก่อนที่จะจดทะเบียนจัดตั้งเป็น ห้างหุ้นส่วนจํากัด สําอางได้ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาเป็นการส่วนตัวหนึ่งล้านบาท และได้นําเงินนั้น มาเป็นทุนของตนในการลงหุ้นกับสมบัติ และได้ไปจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด โดยสําอาง เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนนี้ดําเนินกิจการมาได้ ห้าปีเศษแล้ว แต่สําอางก็ยังมิได้ชําระหนี้เงินกู้รายนี้ ธนาคารเห็นว่า สมบัติเป็นหุ้นส่วนร่วมกับสําอาง และสําอางได้กู้ยืมเงินก่อนจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด ดังนั้น สมบัติควรต้องรับผิดด้วย เพราะถือว่าขณะนั้นห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้จดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจึงต้องรับผิดเหมือน บุคคลเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1079 ธนาคาร จึงทวงถามให้สมบัติชําระหนี้ที่สําอางได้กู้ยืมมา พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าบาทต่อปี ดังนี้
ถ้าสมบัติมาปรึกษากับท่านว่า จะต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวหรือไม่ ท่านจะแนะนําสมบัติอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็น ห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัดจํานวน จนกว่าจะได้จดทะเบียน”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 1079 นั้น กฎหมายได้กําหนดไว้ว่า ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด ให้ถือว่าเป็นเพียงห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนนั้นจะต้อง ร่วมกันรับผิดในบรรดา “หนี้ของห้างหุ้นส่วน” และโดยไม่จํากัดจํานวนจนกว่าห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะได้จดทะเบียน
ตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่สําอางได้ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารนั้นเป็นหนี้สินของ ห้างหุ้นส่วนหรือไม่ เห็นว่า การที่สําอางได้ไปกู้เงินจากธนาคารมาหนึ่งล้านบาทเพื่อนํามาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น การกู้เงินดังกล่าวเป็นกรณีที่สําอางได้กระทําเป็นการส่วนตัว จึงถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของสําอางโดยแท้ เพราะ สําอางได้นําเงินนั้นมาเป็นทุนของตนในการลงหุ้นกับสมบัติ หนี้สินดังกล่าวจึงมิใช่หนี้สินของห้างหุ้นส่วนจํากัด ที่เกิดก่อนการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 1079 ที่สมบัติจะต้อง ร่วมรับผิดด้วย ดังนั้นธนาคารจะทวงถามให้สมบัติร่วมรับผิดโดยการชําระหนี้ที่สําอางได้กู้ยืมมาไม่ได้
สรุป ถ้าสมบัติมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนําแก่สมบัติว่า สมบัติไม่ต้องรับผิดในหนี้รายนี้ แต่อย่างใด ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ใบเตย จํากัด ได้ประชุมกันเพื่อลงมติเลือกกรรมการใหม่ที่หมดวาระแต่ก่อนที่จะลงมติ นายแสดและนายสีผู้ถือหุ้นจํานวนหุ้นข้างมากในบริษัท ได้ร้องขอต่อประธาน ในที่ประชุมให้ลงมติลับ แต่นายหมึกและผู้ถือหุ้นอีก 18 คน ต้องการให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย ประธานในที่ประชุมจึงได้สั่งให้ลงคะแนนโดยเปิดเผยตามเสียงส่วนใหญ่ของผู้ถือหุ้น
ดังนี้ ถ้านายแสด และนายสีไม่พอใจมติที่เลือกกรรมการบริษัทในครั้งนี้ จึงได้มาปรึกษาท่านว่า มติดังกล่าวนี้ชอบด้วย กฎหมายหรือไม่ และควรจะทําอย่างไรต่อไป ให้ท่านแนะนํานายแสดและนายสีด้วย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1190 “ในการประชุมใหญ่ฯ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนนท่านให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ เว้นแต่ เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น จะได้มีผู้ถือหุ้นสองคนเป็นอย่างน้อยติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับ”
มาตรา 1195 “การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันหรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติ ในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอน มติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ใบเตย จํากัด ที่ได้ลงมติโดยเปิดเผยนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถือหุ้นที่ไม่พอใจมติของที่ประชุมนั้น จะต้องดําเนินการอย่างไร
กรณีนี้เห็นว่า การที่บริษัท ใบเตย จํากัด ได้ประชุมกันเพื่อลงมติเลือกกรรมการใหม่ที่หมดวาระ แต่ก่อนที่จะลงมติ เมื่อนายแสดและนายสีผู้ถือหุ้นสองคนได้ร้องขอให้ลงมติลับนั้น ย่อมถือว่าเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้น สองคนที่จะร้องขอให้ลงคะแนนลับได้ตามมาตรา 1190 และเมื่อนายแสดและนายสีได้ร้องขอให้ลงคะแนนลับ ประธานในที่ประชุมต้องสั่งให้ลงคะแนนลับแม้ผู้ถือหุ้นอีกฝ่ายหนึ่งที่มีจํานวนคนข้างมากต้องการให้ลงคะแนน โดยเปิดเผยก็ตาม ประธานในที่ประชุมก็จะสั่งให้ลงคะแนนโดยเปิดเผยไม่ได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ประธานในที่ประชุมได้สั่งให้ลงคะแนนโดยเปิดเผย การลงคะแนนโดยเปิดเผยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายแสด และนายสีจึงสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนมตินั้นได้ แต่ต้องร้องขอภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น ตามมาตรา 1195
สรุป
มติโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายแสดและนายสีสามารถ ร้องขอต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนมตินั้นได้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น