การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. นายแดงตั้งโรงสีข้าวอยู่แล้ว นายเขียวและนายขาวชวนนายแดงให้เข้าหุ้นส่วนตั้งโรงสีข้าวอีกโรงสีหนึ่งนายแดงก็ตกลงแล้วจดทะเบียนให้นายเขียวเป็นผู้จัดการโรงสีข้าวของห้างหุ้นส่วนแต่ผู้เดียว ปรากฏต่อมาว่า โรงสีข้าวนายแดงขายดีส่วนโรงสีข้าวของห้างหุ้นส่วนขายไม่ดีถึงขาดทุนไป 1 ล้านบาท ดังนี้ ห้างหุ้นส่วนจะเรียกร้องแก่นายแดงได้อย่างไร หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1066 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการ อย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่น ซึ่งประกอบกิจการ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น เว้นไว้แต่จะได้รับคํายินยอม ของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด
แต่ข้อห้ามเช่นว่ามานี้ ท่านว่าจะไม่พึงใช้ได้ ถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้รู้อยู่แล้วในเวลา เมื่อลงทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งได้ทํากิจการหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นอันมี วัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่ทําไว้ต่อกันนั้นก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออก”
มาตรา 1067 วรรคแรก “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดกระทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตรา ก่อนนี้ไซร้ ท่านว่าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกําไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอา ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายแดงได้ประกอบกิจการอันมีสภาพเป็น อย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1066 หรือไม่ เห็นว่า การที่นายแดงได้ตั้งโรงสีข้าวอยู่ก่อนแล้ว เมื่อนายเขียวและนายขาวได้ชวนนายแดงให้เข้าหุ้นส่วนตั้งโรงสีข้าว อีกโรงสีหนึ่งซึ่งนายแดงได้ตกลงและได้จดทะเบียนให้นายเขียวเป็นผู้จัดการนั้น จะเห็นได้ว่าแม้นายแดงจะยังคง ประกอบกิจการโรงสีข้าวของตนต่อไปซึ่งเป็นกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน แต่เมื่อ นายเขียวและนายขาวผู้เป็นหุ้นส่วนก็รู้อยู่แล้วว่านายแดงได้ตั้งโรงสีข้าวอยู่ก่อนแล้ว และในสัญญาจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนนั้นก็ไม่ได้บังคับให้นายแดงเลิกกิจการ ดังนั้น จะถือว่าการกระทําของนายแดงเป็นการประกอบกิจการ แข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนไม่ได้ตามมาตรา 1066 วรรคสอง
และเมื่อไม่ถือว่านายแดงได้กระทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1066 วรรคแรก ดังนั้น ห้างหุ้นส่วนจะใช้สิทธิตามมาตรา 1067 วรรคแรก เพื่อเรียกร้องเอาผลกําไรหรือเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนใด ๆ แก่นายแดงไม่ได้เลย
สรุป ห้างหุ้นส่วนจะเรียกร้องแก่นายแดงเพื่อเรียกเอาผลกําไรที่นายแดงหาได้ทั้งหมด หรือ เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ไม่ได้เลย
ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดเอบี เอ็นจิเนียริง มีนายเอและนายบีเป็นหุ้นส่วนกัน 2 คน โดยนายบีเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดไว้ 25,000 บาท แต่ได้ส่งเงินไปแล้ว 15,000 บาท ต่อมา ห้างหุ้นส่วนจํากัด เอบี เอ็นจิเนียริง นั้น เป็นหนี้นายซี 100,000 บาท ดังนี้ นายชีจะฟ้องนายเอและนายบีให้ใช้หนี้ของห้างหุ้นส่วนจํากัด ได้อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1081 “ห้ามมิให้เอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดมาเรียกขานระคน เป็นชื่อห้าง”
มาตรา 1082 วรรคแรก “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดง ออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคล ภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดฉะนั้น”
มาตรา 1095 “ตราบใดห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิ จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้
แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัด ความรับผิดได้เพียงจํานวนดังนี้ คือ…”
วินิจฉัย
โดยหลักตามมาตรา 1095 วรรคแรก ถ้าห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของ ห้างหุ้นส่วนจํากัด จะฟ้องหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไม่ได้ จะฟ้องได้ก็แต่เฉพาะหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัด ความรับผิดเท่านั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นบางกรณีที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้แม้ ห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นจะยังมิได้เลิกกัน เช่น กรณีที่หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้ยินยอมให้ใช้ชื่อตนเรียกขาน ระคนเป็นชื่อห้าง เป็นต้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบีซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 1081 โดยยินยอมให้ใช้ชื่อของตนเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง ดังนั้น นายบีจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เสมือนเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดตามมาตรา 1082 วรรคแรก และอาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องได้ แม้ ห้างหุ้นส่วนจํากัดเอบี เอ็นจิเนียริง ยังมิได้เลิกกัน
ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดเอบี เอ็นจิเนียริง เป็นหนี้นายซี 100,000 บาท นายซีย่อมสามารถฟ้องนายเอหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิด และนายบีซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ให้ร่วมกันชําระหนี้ทั้งหมดให้แก่ตนได้ โดยจะฟ้องเฉพาะนายเอหรือนายบีคนหนึ่งคนใดหรือฟ้องทั้งสองคนให้ร่วมกัน รับผิดในจํานวนหนี้ทั้งหมดก็ได้
สรุป นายซีสามารถฟ้องนายเอและนายบีให้ใช้หนี้ของห้างหุ้นส่วนจํากัดจํานวน 100,000 บาท แก่ตนได้
ข้อ 3. บริษัท เอบีซี จํากัด จัดตั้งขึ้นเมื่อ 2555 มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีนายหนึ่งและนายสองเป็นกรรมการ ต่อมาในเดือนมีนาคม 2555 บริษัทฯ มีเงินทุนเหลือเพราะ ล้มเลิกโครงการบางโครงการของบริษัทฯ ลง บรรดาผู้ถือหุ้นประสงค์ลดทุนของบริษัทฯ ให้น้อยลง ผู้ถือหุ้นจึงได้ประชุมกันเพื่อลงมติให้บริษัทฯ ลดมูลค่าของหุ้นลงเหลือหุ้นละ 50 บาท
ให้วินิจฉัยว่า บริษัทฯ จะต้องทําประการใด การกระทําดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1194 “การใดที่กฎหมายกําหนดให้ต้องทําโดยมติพิเศษ ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติใน เรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจํานวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม และมีสิทธิ ออกเสียงลงคะแนน”
มาตรา 1195 “การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติ ในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น”
มาตรา 1224 “บริษัทจํากัดจะลดทุนของบริษัทลงด้วยลดมูลค่าแต่ละหุ้นให้ต่ำลง หรือลด จํานวนหุ้นให้น้อยลงโดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัท เอบีซี จํากัด ประสงค์จะลดทุนของบริษัทฯ ให้น้อยลง โดยให้ลดมูลค่าของหุ้นลงเหลือหุ้นละ 50 บาทนั้น การกระทําดังกล่าวคือการลดทุนโดยการลดมูลค่า ของหุ้นให้ต่ำลงนั้นเป็นการกระทําที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการลดทุนของบริษัทฯ นั้นตามกฎหมายสามารถ ลดได้ 2 วิธี คือ อาจจะลดมูลค่าของหุ้นให้ต่ำลง หรืออาจจะลดจํานวนหุ้นให้น้อยลงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ตาม มาตรา 1224
แต่อย่างไรก็ดี การที่บริษัทฯ จะลดทุนของบริษัทฯ ลงไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม บริษัทฯ จะต้อง ดําเนินการโดยการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น และให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติเพื่อให้มีการลดทุน และมตินั้นจะต้อง เป็นมติพิเศษ กล่าวคือ ต้องให้ที่ประชุมใหญ่นั้นลงมติให้มีการลดทุนด้วยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน (ตามมาตรา 1194 และมาตรา 1224) ถ้าที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติให้บริษัทฯ ลดทุนโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ย่อมถือว่ามติให้มีการลดทุนนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนมตินั้นได้ (ตามมาตรา 1195)
สรุป การที่บริษัทฯ ได้ลดทุนลงโดยการลดมูลค่าของหุ้นเหลือหุ้นละ 50 บาท นั้นชอบด้วย กฎหมาย แต่การลดทุนนั้น บริษัทฯ จะต้องใช้มติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามมาตรา 1194 ประกอบมาตรา 1224 ดังกล่าวข้างต้น