การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. เอ๋ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้โอจ่ายเงินจํานวนหนึ่งให้แก่จ๋า โดยเป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อให้ใช้เงิน แก่จ๋าหรือผู้ถือ ต่อมาจ๋าได้ทําการสลักหลังเฉพาะตัวระบุชื่อจา แล้วทําการส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้น เพื่อชําระหนี้ให้แก่จา ภายหลังจากนั้นจาได้นําตั๋วแลกเงินฉบับนี้สลักหลังเฉพาะให้แก่เท่ง และต่อมา เท่งก็ได้ส่งมอบตั๋วแลกเงินฉบับนี้เพื่อชําระหนี้ให้แก่โทน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ให้วินิจฉัยว่า โทนเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด (อธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบอย่างชัดเจน)
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”
มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”
มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอ๋ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้โอ๋จ่ายเงินโดยระบุชื่อให้ใช้เงินแก่จ๋าหรือผู้ถือนั้น ถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้นในการโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการ ส่งมอบตั๋วให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลังใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าการโอนตัวนี้ต่อไปได้มีการสลักหลังในตั๋วนี้ด้วยกฎหมาย ให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงการรับอาวัลผู้สั่งจ่ายเท่านั้น (ตามมาตรา 918 และมาตรา 921)
ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อมีการโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไปนั้น จ๋าสลักหลังระบุชื่อและส่งมอบให้แก่จา และจาสลักหลังและส่งมอบแก่เท่ง และเท่งส่งมอบตัวต่อไปให้แก่โทนนั้น จะเห็นได้ว่าการโอนตั๋วทุกครั้ง มีการส่งมอบตั๋วนั้นให้แก่กัน ดังนั้นการโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวจึงถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อโทนเป็นบุคคล ผู้มีตั๋วเงินอยู่ในความครอบครอง และได้รับการโอนตั๋วมาโดยชอบด้วยกฎหมาย โทนจึงเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงิน ดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 ส่วนการที่จ๋าและจาได้ลงลายมือชื่อสลักหลังตั๋วเงินไว้นั้นให้ถือว่า เป็นเพียงผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่าย (ตามมาตรา 921)
สรุป โทนเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2. คมสันสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงทอง จํากัด จํานวน 500,000 บาท ระบุดอกดินเป็นผู้รับเงินแต่มิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก แล้วให้กับดอกดินเพื่อชําระหนี้ ต่อมาดอกดินสลักหลังและ ส่งมอบเช็คนั้นชําระราคาสินค้าให้แก่เหลือง เหลืองรับเช็คนั้นไว้โดยสุจริตเพราะเชื่อเครดิตของคมสัน ผู้สั่งจ่าย ดังนี้ หากต่อมาเหลืองยื่นเช็คให้ธนาคารกรุงทอง จํากัด ใช้เงิน แต่ธนาคารกรุงทอง จํากัด ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีของคมสันผู้สั่งจ่ายมีไม่พอจ่าย ดังนี้ เหลืองจะใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ดอกดินรับผิดใช้เงินตามเช็คนี้ได้หรือไม่ในฐานะใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความ ในตั๋วเงินนั้น”
มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”
มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”
มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”
มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910 914 ถึง 923, 938 ถึง 940”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คมสันสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงทอง จํากัด จํานวน 500,000 บาท โดยได้ระบุ ให้ดอกดินเป็นผู้รับเงินแต่มิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออกนั้น ย่อมถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบเช็คให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลัง ถ้ามีการสลักหลัง ให้ถือว่าเป็นเพียงการประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย (มาตรา 918 มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง)
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ดอกดินได้สลักหลังและส่งมอบเช็คนั้นชําระราคาสินค้าให้แก่เหลืองย่อม ถือว่าการสลักหลังของดอกดินเป็นเพียงการรับอาวัลคมสันผู้สั่งจ่าย และมีผลให้ดอกดินต้องรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับคมสันผู้สั่งจ่าย (มาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง) ดังนั้นหากต่อมาเหลืองได้ ยื่นเช็คให้ธนาคารกรุงทอง จํากัด ใช้เงิน แต่ธนาคารกรุงทอง จํากัด ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว เหลืองย่อมสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ดอกดินรับผิดตามเช็คฉบับนี้ได้ในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง มาตรา 921 มาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง
สรุป เหลืองสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ดอกดินรับผิดตามเช็คนี้ได้ในฐานะเป็นผู้รับอาวัลคมสันผู้สั่งจ่าย
ข้อ 3. นายมั่นนําแหวนเพชรมาเสนอขายแก่นายคงในราคา 300,000 บาท นายคงกําลังจะหาของขวัญวันเกิดให้แก่ภริยาเห็นว่าแหวนเพชรดังกล่าวราคาไม่แพงจึงตกลงซื้อ ในการชําระหนี้ค่าแหวนเพชร นายคงได้ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าระบุชื่อนายมั่นเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ใน แบบพิมพ์เช็คออกมอบให้แก่นายมั่น ก่อนเช็คถึงกําหนดนายนากลูกจ้างของนายมั่นได้แอบเข้าไปในห้องนอนของนายมั่นลักเช็คดังกล่าวไปแล้วปลอมลายมือชื่อนายมั่นสลักหลังเช็คนําไปแลกเงินสด จากนายสินซึ่งรับแลกเช็คไว้โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต่อมานายมั่นทราบว่า เช็คดังกล่าวอยู่ที่นายสินจึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้นายสินทราบและขอเช็คคืน
ให้วินิจฉัยว่า นายสินจะต้องคืนเช็คให้แก่นายมั่นหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่า บุคคลผู้ที่ลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคําสลักหลัง เมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามีได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิ ของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจําต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริต หรือได้มา ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย”
มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้ มอบอํานาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอํานาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัย แสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตัวเงินไว้ก็ดี เพื่อทําให้ตัวนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่ คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทําได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือ ถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้น ขึ้นเป็นข้อต่อสู้”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายคงได้ออกเช็คสั่งจ่ายแก่นายมั่นโดยระบุชื่อนายมั่นเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่า คําว่า “ หรือผู้ถือ” ในแบบพิมพ์เช็คออานั้น ถือว่าเช็คฉบับดังกล่าวเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ การที่นายนาก ลูกจ้างของนายมั่นได้แอบลักเช็คดังกล่าวไป แล้วปลอมลายมือชื่อของนายมั่นสลักหลังเช็คให้แก่นายสินไปนั้น ตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าลายมือชื่อปลอมของนายมั่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ถือเสมือนหนึ่งว่านายมั่น ไม่เคยสลักหลังเช็คดังกล่าว ดังนั้นแม้ว่านายสินจะได้รับเช็คไว้โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก็ตาม ก็ไม่ถือว่านายสินเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 905 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด เพราะนายสินได้รับเช็ค มาจากการสลักหลังที่ขาดสาย
และเมื่อนายสินไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นนายสินจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่ง อย่างใดเพื่อยึดหน่วงเช็คไว้ย่อมไม่อาจทําเด้เป็นอันขาด นายสินจึงต้องคืนเช็คให้แก่นายมั่นตามมาตรา 905 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประกอบมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง
สรุป นายสินจะต้องคืนเช็คให้แก่นายมั่น