การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. (ก) การโอนตั๋วเงินมีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่สําคัญอย่างไรบ้าง จงอธิบาย

(ข) นางสายไหมสั่งจ่ายเช็คฉบับหนึ่ง โดยทําการระบุชื่อนายจอมทอง เป็นผู้รับเงิน และมิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก และส่งมอบให้แก่นายจอมทอง เพื่อชําระหนี้ค่าเช่าอาคาร ต่อมานายจอมทองนําเช็คฉบับดังกล่าวมาทําการลงลายมือชื่อสลักหลัง และส่งมอบให้แก่นายบางรัก เพื่อชําระหนี้ค่าสินค้า หากต่อมานายบางรักต้องการจะทําการสลักหลัง และส่งมอบเช็คฉบับดังกล่าวเพื่อชําระหนี้ ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่นายประเวศ จะสามารถกระทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

(ก) ตามกฎหมายตั๋วเงินมี 3 ประเภท ได้แก่ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเช็ค ซึ่งหลักในการ โอนตั๋วเงินนั้น กฎหมายได้บัญญัติไว้ในส่วนที่เกี่ยวกับตั๋วแลกเงินเท่านั้น เพียงแต่ได้กําหนดให้นําหลักในการโอน ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อไปใช้กับการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คด้วย (ตามมาตรา 985 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 989 วรรคหนึ่ง) และให้นําหลักในการโอนตั๋วแลกเงินชนิดสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือไปใช้กับการโอนเซ็คชนิดสั่งจ่าย แก่ผู้ถือด้วย (ตามมาตรา 989 วรรคหนึ่ง)

สําหรับหลักในการโอนตั๋วแลกเงินนั้น กฎหมายได้กําหนดไว้ดังนี้ คือ

1 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ

การโอนสามารถกระทําได้โดยการสลักหลังและส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 917 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

หมายความว่าตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) นั้น ถ้าจะมีการโอนต่อไปให้แก่ บุคคลอื่น การโอนจะมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้โอนได้ทําการสลักหลังและส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้น ให้แก่ผู้รับโอน (จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้)

“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของ ตนไว้ในตั๋วแลกเงิน (หรือใบประจําต่อ) โดยอาจจะเป็นการ “สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)” หรืออาจจะเป็นการ “สลักหลังลอย” ก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 919)

(1) การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หมายถึง การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับ สลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ในตั๋วแลกเงินด้วย โดยอาจจะกระทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตัวก็ได้

(2) การสลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังที่ไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วเงินเท่านั้น (ป.พ.พ. มาตรา 919 วรรคสอง)

อนึ่ง ในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้น ในกรณีที่เป็นการสลักหลังเฉพาะ (สลักหลัง ระบุชื่อ) ถ้าผู้ทรงจะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปก็สามารถโอนได้แต่จะต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบเท่านั้น โดยอาจจะสลักหลังเฉพาะหรือสลักหลังลอยก็ได้ จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้

แต่ถ้าในการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินนั้น เป็นการสลักหลังลอย ดังนี้ผู้ทรงซึ่งได้ ตั๋วแลกเงินนั้นมาจากการสลักหลังลอย ย่อมสามารถโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปได้โดยการสลักหลังและส่งมอบหรือ อาจจะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 920)

2 ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ

การโอนตั๋วเงินชนิดนี้ย่อมสามารถกระทําได้โดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้อง มีการสลักหลังตาม ป.พ.พ. มาตรา 918 ซึ่งบัญญัติว่า “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียง ด้วยส่งมอบให้กัน”

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าว ต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910. 914 ถึง 923, 938 ถึง 940”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสายไหมสั่งจ่ายเช็คเพื่อชําระหนี้ค่าเช่าอาคารให้แก่นายจอมทอง โดยระบุชื่อนายจอมทอง เป็นผู้รับเงิน แต่มิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก เช็คฉบับนี้ถือว่าเป็นเช็คชนิด สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบเช็คให้แก่กันโดยไม่ต้อง สลักหลัง และถ้ามีการสลักหลังให้ถือว่าเป็นเพียงการประกัน (อาวัล) ผู้สั่งจ่าย (ป.พ.พ. มาตรา 918 มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง)

การที่นายจอมทองนําเช็คฉบับดังกล่าวมาทําการลงลายมือชื่อสลักหลังและส่งมอบให้แก่ นายบางรักเพื่อชําระหนี้ค่าสินค้านั้น การโอนเช็คระหว่างนายจอมทองและนายบางรักถือเป็นการโอนเซ็คที่ ชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่การสลักหลังของนายจอมทองนั้น ให้ถือว่าเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายซึ่งนายจอมทอง จะต้องรับผิดตามเช็คในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายคือนางสายไหม

และเมื่อนายบางรักต้องการจะทําการสลักหลังและส่งมอบเช็คฉบับดังกล่าวเพื่อชําระหนี้ตาม สัญญากู้ยืมเงินให้แก่นายประเวศ นายบางรักย่อมสามารถทําได้ เพียงแต่การสลักหลังของนายบางรักย่อมมีผลทําให้ นายบางรักจะตกเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดตามเช็คนั้นในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายคือนางสายไหมด้วย

สรุป นายบางรักสามารถทําการสลักหลังและส่งมอบเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายประเวศได้

 

ข้อ 2. (ก) การรับรองตั๋วแลกเงินจะต้องทําอย่างไรถึงจะเป็นการรับรองโดยถูกต้องตามกฎหมาย และการรับรองนั้นมีกี่อย่าง อะไรบ้าง

(ข) การอาวัลตั๋วแลกเงินคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง ผู้จ่ายเงินตามตั๋วจะเข้ามาเป็นผู้รับอาวัลได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) “การรับรองตั๋วแลกเงิน” คือ การที่ “ผู้จ่าย” ได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคําสั่งของผู้สั่งจ่ายให้แก่ผู้ทรง (หรือผู้รับเงิน) ตามจํานวนเงินที่ได้ให้ คํารับรองไว้

สําหรับ “วิธีการรับรองตั๋วแลกเงิน” ที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ผู้จ่ายจะต้องปฏิบัติตาม แบบหรือวิธีการรับรองตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 931 ดังนี้ คือ

1 ให้ผู้จ่ายเขียนข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นทํานองเดียวกันนั้น และ ลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น โดยอาจจะลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้ หรือ

2 ผู้จ่ายลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน โดยไม่เขียนข้อความ ดังกล่าวไว้เลยก็ได้ กฎหมายก็ให้จัดว่าเป็นคํารับรองแล้ว

อนึ่ง ถ้าผู้จ่ายได้ทําการรับรองโดยการลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินนั้น ย่อมเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกําหนด จึงไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคํารับรองนั้นไม่มีผลนั่นเอง

การรับรองตั๋วแลกเงิน มี 2 ประเภท ได้แก่ การรับรองตลอดไป และการรับรองเบี่ยงบ่าย(ป.พ.พ. มาตรา 935)

1 การรับรองตลอดไป คือ การที่ผู้จ่ายรับรองว่าจะจ่ายเงินให้กับผู้ทรงโดยไม่มีการแก้แย้งคําสั่งของผู้สั่งจ่ายแต่อย่างใด เช่น ผู้สั่งจ่ายให้ผู้จ่ายจ่ายเงินแก่ผู้ทรง 10,000 บาท เมื่อผู้ทรงนําตั๋วเงินไปยื่นให้ผู้จ่ายรับรอง ผู้จ่ายก็รับรองว่าจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ทรง 10,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นต้น

2 การรับรองเบี่ยงบ่าย คือ การที่ผู้จ่ายรับรองกับผู้ทรงว่าจะจ่ายเงินให้แต่มีการแก้แย้ง คําสั่งของผู้สั่งจ่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง ทําให้ตั๋วเงินมีผลผิดแผกไปจากที่ผู้สั่งจ่ายเขียนสั่งไว้ ได้แก่

1) รับรองโดยมีเงื่อนไข เช่น รับรองว่าจะจ่ายเงินเมื่อถึงกําหนดผู้จ่ายมีเงินพอที่จะจ่าย

เป็นต้น

2) รับรองแต่เพียงบางส่วน เช่น รับรองว่าจะจ่ายเงินให้เพียงครึ่งหนึ่งของจํานวนเงินในตั๋วเงิน เป็นต้น

(ข) “การอาวัลหรือการรับอาวัลตั๋วแลกเงิน” คือการที่บุคคลภายนอกหรือผู้ที่เป็นคู่สัญญาอยู่แล้ว ในตั๋วแลกเงินนั้น ได้เข้ามารับประกันการใช้เงินทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินต่อผู้เป็นเจ้าหนี้ซึ่ง ตั๋วแลกเงินใบหนึ่งนั้นอาจมีผู้รับอาวัลได้หลายคน และผู้รับอาวัลนั้นต้องระบุไว้ด้วยว่ารับประกันผู้ใด ถ้าไม่ระบุไว้ ให้ถือว่าเป็นการรับประกันผู้สั่งจ่าย (ป.พ.พ. มาตรา 938 และมาตรา 939 วรรคสี่)

การอาวัลตั๋วแลกเงินนั้น เกิดขึ้นได้ 2 กรณี ได้แก่ การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา และอาวัลโดยผลของกฎหมาย

1 การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา ทําได้โดย

1.1 ผู้รับอาวัลเขียนข้อความลงบนตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดที่มีความหมายทํานองเดียวกันนั้น เช่น “เป็นอาวัลประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล ซึ่งการอาวัลในกรณีนี้จะทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วแลกเงินก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 939 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่)

1.2 ผู้รับอาวัลลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าตั๋วแลกเงินนั้น โดยไม่ต้องเขียนข้อความ ใด ๆ ไว้ก็ให้ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสาม)

2 การอาวัลโดยผลของกฎหมาย เกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินชนิด สั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 921 ได้บัญญัติให้บุคคลที่เข้ามาสลักหลังนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายและ ต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย

สําหรับผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น จะเข้ามาเป็นผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงินได้ แต่ผู้จ่ายจะต้อง ปฏิบัติตาม 1.1 กล่าวคือ จะต้องเขียนข้อความและลงลายมือชื่อของผู้จ่ายไว้ด้วย จะลงแต่ลายมือชื่อของผู้จ่ายไว้ ที่ด้านหน้าของตั๋วแลกเงินตาม 1.2 ไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 938 และมาตรา 939)

 

ข้อ 3. (ก) ธนาคารผู้มีหน้าที่ใช้เงินตามเช็คจะสามารถปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) ในวันที่ 15 ตุลาคม 2560 น้ำสั่งจ่ายเช็คธนาคารริชชี่ จํากัด (มหาชน) สาขาหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งตนเป็นลูกค้าอยู่จํานวน 500,000 บาท ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2560 ระบุชื่อ สุดสวย เป็นผู้รับเงิน และขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออก แล้วส่งมอบเช็คนั้นชําระหนี้ค่าซื้อ ลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมให้แก่สุดสวย ต่อมาเมื่อถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2560 สุดสวยก็ยังไม่นําเช็ค ไปยื่นให้ธนาคารริชชี่ฯ ใช้เงิน เนื่องจากมีภารกิจต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ต่างประเทศ เมื่อสุดสวยเดินทางกลับมาจากต่างประเทศวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 จึงได้รีบนําเช็คฉบับ ดังกล่าวไปยื่นให้ธนาคารริชชี่ฯ สาขาเดอะมอลล์บางกะปิ ใช้เงินในวันเดียวกันนั้นทันที เมื่อ ธนาคารริชซี่ฯ ทําการตรวจสอบเงินในบัญชีของน้ำผู้สั่งจ่ายแล้ว ปรากฏว่ามีเงินคงเหลืออยู่ใน บัญชีที่ธนาคารจะสามารถจ่ายได้จํานวน 1,000,000 บาท ต่อจากนั้นธนาคารริชชี่ฯ ได้ทําการ สอบถามไปยังน้ำ เมื่อน้ำทราบเรื่องก็แจ้งให้ธนาคารริชชี่ฯ ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับ ดังกล่าวทันที เพราะเห็นว่าเป็นเช็คที่ล่วงเลยเวลาใช้เงินตามเช็คมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

ดังนี้ ธนาคารริชชี่ฯ จะสามารถจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวนี้ให้แก่สุดสวยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) โดยหลักแล้ว ธนาคารมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามเช็คที่ผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงิน แก่ตนเสมอตามสัญญาฝากทรัพย์ในรูปบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน (Current Deposit Account) ซึ่ง “ผู้เคยค้า” นั้นหมายถึง “ผู้สั่งจ่ายเช็ค” อันเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกับผู้สั่งจ่ายในฐานะเจ้าหนี้ ขณะที่ธนาคาร มีฐานะเป็นลูกหนี้

แต่อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นตามมาตรา 991 (1) (2) และ (3) ที่กฎหมายบัญญัติให้ธนาคาร มีสิทธิใช้ดุลพินิจว่าจะจ่ายเงินตามเช็คที่ผู้เคยค้าสั่งจ่ายหรือไม่ก็ได้ กล่าวคือธนาคารอาจจะปฏิเสธไม่จ่ายเงิน ตามเช็คก็ได้ ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ

(1) กรณีไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้า หรือมีแต่ไม่พอจ่ายตามเช็ค แต่หากธนาคารอนุมัติ ให้จ่าย ย่อมถือว่าธนาคารได้อนุญาตให้ผู้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชี (O/D) และก่อให้เกิดบัญชีเดินสะพัดตามนัย มาตรา 856 ระหว่างธนาคารกับผู้สั่งจ่าย

(2) กรณีผู้ทรงเช็คได้ยื่นเช็คเกิน 6 เดือนนับแต่วันเดือนปีที่ออกเช็ค (วันที่ลงในเช็ค) (3) กรณีที่ได้มีคําบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป

และถ้าหากเป็นกรณีตามมาตรา 992 (1) (2) และ (3) ธนาคารจะจ่ายเงินตามเช็คไม่ได้เลย เพราะถือว่าอํานาจและหน้าที่ในการใช้เงินตามเช็คของธนาคารได้สิ้นสุดลงแล้ว กรณีดังกล่าวได้แก่

(1) มีคําบอกห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยผู้สั่งจ่าย

(2) ธนาคารรู้ว่าผู้สั่งจ่ายเช็คตาย

(3) ธนาคารรู้ว่าศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว หรือพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือคําสั่ง ให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลาย หรือได้มีประกาศโฆษณาคําสั่งเช่นนั้น

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 990 วรรคหนึ่ง “ผู้ทรงเช็คต้องยืนเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน คือว่าถ้าเป็นเช็ค ให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่น ต้องยื่นภายในสามเดือน ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อ ผู้สั่งจ่ายด้วย เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น”

มาตรา 992 “หน้าที่และอํานาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น ท่านว่า เป็นอันสุดสิ้นไปเมื่อกรณีเป็นดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) มีคําบอกห้ามการใช้เงิน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่น้ำสั่งจ่ายเช็คธนาคารริชชี่ จํากัด (มหาชน) สาขาหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2560 โดยระบุชื่อ สุดสวย เป็นผู้รับเงิน และขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ออก และส่งมอบเช็คนั้นให้แก่สุดสวยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นกรณีผู้สั่งจ่ายได้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารในกรุงเทพมหานคร

เพื่อชําระหนี้ในกรุงเทพมหานคร จึงถือว่าเป็นเช็คที่ออกในเมืองเดียวกัน ดังนั้น ผู้ทรงคือสุดสวยจะต้องนําเช็คนั้น ไปยืนให้ธนาคารฯ จ่ายเงินภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ลงในเช็ค คือภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 มิฉะนั้นแล้ว จะมีผลตามมาตรา 990 วรรคหนึ่ง คือสุดสวยจะสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลัง และเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่าย เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการละเลยเสียไม่ยืนเช็คภายในกําหนดนั้น

แต่ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า สุดสวยจะได้ยื่นเช็คให้ธนาคารฯ ใช้เงินในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเลยระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ลงในเช็คมากว่า 3 เดือนเศษแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่าน้ำยังไม่หลุดพ้นจาก ความรับผิดตามมาตรา 990 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะไม่ปรากฏว่าธนาคารริชชี่ฯ ล้มละลายทําให้น้ำได้รับความเสียหาย แต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าน้ำจะได้หลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าน้ำซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย เช็คฉบับดังกล่าวได้แจ้งให้ธนาคารริชชี่ฯ ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับนั้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่ายมี คําบอกห้ามการใช้เงินแล้ว ดังนั้น เมื่อธนาคารฯ ทราบแล้ว ธนาคารฯ จะใช้ดุลพินิจจ่ายเงินไม่ได้เพราะถือว่า อํานาจและหน้าที่ในการใช้เงินตามเช็คของธนาคารฯ ได้สิ้นสุดลงแล้วตามมาตรา 992 (1)

สรุป ธนาคารริชชีฯ ไม่สามารถจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่สุดสวยได้

 

Advertisement