การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายจันทร์เป็นโรคมะเร็งระยะแรกแต่ยังไม่ปรากฏอาการจึงทําให้ตนเองไม่ทราบมาก่อน ต่อมาได้ไปทําสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัท อังคารประกันชีวิตฯ ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี จํานวน เงินเอาประกันภัย 5 แสนบาท ระบุนางพุธเป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากทําสัญญา 2 ปี นายจันทร์ ปวดท้องอย่างแรงจึงไปพบแพทย์ ปรากฏว่าเป็นมะเร็งที่ตับได้ผ่าตัดเนื้อร้ายออก โดยนายจันทร์ ไม่ได้แจ้งให้บริษัท อังคารฯ ทราบ ต่อมาอีก 1 ปี นายจันทร์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง นางพุธได้ยืน คําขอรับประโยชน์ แต่บริษัท อังคารฯ ปฏิเสธการจ่าย อ้างว่า นายจันทร์รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งแล้ว ปกปิด บริษัท อังคารฯ จึงขอบอกล้างสัญญา อยากทราบว่าสัญญาประกันภัยนี้มีผลสมบูรณ์หรือไม่และบริษัท อังคารฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 865 วรรคหนึ่ง “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณี ประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผย ข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 865 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า ในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัย มีหน้าที่ที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริงที่มีลักษณะสําคัญซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น อีก หรืออาจบอกปัดไม่ยอมทําสัญญาให้ผู้รับประกันภัยทราบ มิฉะนั้นแล้วสัญญานั้นจะตกเป็นโมฆียะ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์เป็นโรคมะเร็งระยะแรก แต่ยังไม่ปรากฏอาการจึงทําให้ ตนเองไม่ทราบมาก่อน ต่อมาได้ไปทําสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัท อังคารประกันชีวิตฯ ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี จํานวนเงินเอาประกันภัย 5 แสนบาท ระบุนางพุธเป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากทําสัญญา 2 ปี นายจันทร์ ปวดท้องอย่างแรงจึงไปพบแพทย์ ปรากฏว่าเป็นมะเร็งที่ตับและได้ผ่าตัดเนื้อร้ายออก โดยนายจันทร์ไม่ได้แจ้งให้ บริษัท อังคารฯ ทราบนั้น ถือว่าในเวลาทําสัญญาประกันภัย นายจันทร์ผู้เอาประกันภัยไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคมะเร็ง แต่มารู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งก็เป็นช่วงเวลาหลังจากได้ทําสัญญาแล้ว 2 ปี กรณีดังกล่าวนี้จึงไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ นายจันทร์ผู้เอาประกันภัยได้รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้ บอกปัดไม่ยอมทําสัญญาตามนัยของมาตรา 865 แต่อย่างใด อีกทั้งการที่นายจันทร์ได้รู้ว่าตนเองเป็นมะเร็ง ภายหลังการทําสัญญาประกันภัยแล้วนั้น นายจันทร์ก็ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเปิดเผยให้บริษัท อังคารฯ ทราบ ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตระหว่างนายจันทร์กับบริษัท อังคารฯ จึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ และบริษัท อังคารฯ จะขอบอกล้างสัญญาและปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ได้

สรุป

สัญญาประกันภัยดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ และบริษัท อังคารฯ จะปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ได้

 

ข้อ 2 นางแหม่มได้นํารถยนต์ของตนไปทําประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2557 ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวนั้นได้รับความเสียหาย จากการที่นายหมึกขับรถยนต์โดยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของนางแหม่ม โดยนายหมึกได้ทํา บันทึกข้อตกลงระหว่างนายหมึกกับนางแหม่มว่า นายหมึกจะซ่อมรถยนต์ของนางแหม่มให้อยู่ใน สภาพเดิม โดยไม่มีรายละเอียดและข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจํานวนเงิน วิธีชําระตลอดจนระยะเวลา ในการใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายดังกล่าว และไม่มีข้อความโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ตกลงระงับข้อพิพาทต่อกัน ดังนี้วันที่ 31 มีนาคม 2558 บริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด จึงมาฟ้อง เรียกให้นายหมึกใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่บริษัท โชคดีประกันภัยนั้นรับช่วงสิทธิของนางแหม่มมา เนื่องจากนายหมึกไม่ได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว บริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด จึงได้มีการ ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางแหม่มในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของนางแหม่มไปแล้ว

ดังนั้นจงวินิจฉัยว่าบริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด สามารถมารับช่วงสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายหมึกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 880 วรรคหนึ่ง “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย และของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น”

วินิจฉัย

โดยหลัก ถ้าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอก เมื่อผู้รับประกันภัย ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว กฎหมายได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้อง เอาจากบุคคลภายนอกนั้นได้ตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางแหม่มได้นํารถยนต์ของตนไปทําประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2557 ในระหว่างอายุสัญญา ปรากฏ ว่ารถยนต์คันดังกล่าวนั้นได้รับความเสียหายจากการที่นายหมึกขับรถยนต์โดยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ ของนางแหม่มนั้น กรณีนี้ถือว่าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของนายหมึกซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว

สําหรับบันทึกข้อตกลงระหว่างนายหมึกกับนางแหม่มที่ว่า นายหมึกจะซ่อมรถยนต์ของนางแหม่ม ให้อยู่ในสภาพเดิมนั้น เมื่อไม่มีรายละเอียดและข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจํานวนเงิน วิธีชําระตลอดจนระยะเวลา ในการใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายดังกล่าว และไม่มีข้อความโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับ ข้อพิพาทต่อกัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นมูลหนี้ละเมิดที่เกิดขึ้นจึงยังไม่ระงับ

และจากข้อเท็จจริงเมื่อปรากฏว่า นายหมีกไม่ได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ทําให้ บริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนางแหม่มในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ของ นางแหม่มจากการทําละเมิดของนายหมึกบุคคลภายนอกไปแล้ว บริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด จึงสามารถเข้า รับช่วงสิทธิของนางแหม่มผู้เอาประกันภัยฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายหมึกได้ตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง

สรุป

บริษัท โชคดีประกันภัย จํากัด สามารถรับช่วงสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก นายหมึกได้

 

ข้อ 3 เอกสิทธิ์ทําประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัท มั่นใจประกันชีวิต จํากัด จํานวนเงินเอาประกัน 2 แสนบาท ระยะเวลา 15 ปี กําหนดให้สหสิทธิบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์ ในระหว่าง อายุสัญญาประกันภัย สหสิทธิต้องการเงินประกันชีวิตเพื่อไปใช้หนี้พนันบอล จึงใช้ปืนยิงเอกสิทธิ์ที่ บริเวณท้อง แต่ไม่ถูกเอกสิทธิ์ สหสิทธิถูกดําเนินคดีและศาลมีคําพิพากษาลงโทษจําคุกฐานพยายามฆ่า ต่อมาเอกสิทธิ์ประสบอุบัติเหตุขับรถชนต้นไม้ถึงแก่ความตาย ดังนี้ บริษัทผู้รับประกันภัยต้องจ่ายเงินให้แก่สหสิทธิหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะ ของบุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับ ประกันภัยจําต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทําสัญญา หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจําต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น”

วินิจฉัย

โดยหลัก เมื่อผู้เอาประกันชีวิต หรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ถึงแก่ความตาย บริษัทผู้รับประกัน จะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้น เว้นแต่บุคคลนั้นจะได้กระทําอัตวินิบาตหรือฆ่าตัวตายด้วยใจสมัคร ภายใน 1 ปีนับแต่วันทําสัญญา หรือบุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกสิทธิ์ทําประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัท มั่นใจประกันชีวิต จํากัด กําหนดให้สหสิทธิบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์ และในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยสหสิทธิ ต้องการเงินประกันชีวิตเพื่อไปใช้หนี้พนันบอล จึงใช้ปืนยิงเอกสิทธิ์ที่บริเวณท้องแต่ไม่ถูกเอกสิทธิ์ สหสิทธิจึงถูก ดําเนินคดีและศาลมีคําพิพากษาลงโทษจําคุกฐานพยายามฆ่านั้น กรณีนี้ถือไม่ได้ว่าผู้เอาประกันถูกผู้รับประโยชน์ ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895 (2) ดังนั้น เมื่อต่อมาเอกสิทธิ์ประสบอุบัติเหตุขับรถชนต้นไม้ถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีที่บริษัทผู้รับประกันภัยจําต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของเอกสิทธิ์ให้แก่สหสิทธิผู้รับประโยชน์ตาม สัญญาตามมาตรา 889

สรุป บริษัทผู้รับประกันภัยต้องจ่ายเงินให้แก่สหสิทธิตามสัญญา

Advertisement