การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายกรุงทําสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับ บริษัท ไทยประกันชีวิต จํากัด เป็นเงิน 1 ล้านบาท กําหนดสัญญา 10 ปี โดยทําสัญญาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2544 นายกรุงได้ปกปิดเรื่องที่ตนเองเป็นวัณโรคอยู่ บริษัทไม่ทราบความจริงในเรื่องนี้ จึงตกลงรับประกัน ภายในอายุสัญญานายกรุงไปเที่ยวแล้ว รับประทานอาหารร้านริมถนนจนเกิดท้องร่วงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 เมื่อ นายกรุงตายแล้วบริษัทจึงทราบว่านายกรุงเป็นวัณโรคมาก่อนทําสัญญาประกันชีวิต บริษัทประกันชีวิต จึงบอกล้างสัญญาประกันชีวิต เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2549 ดังนี้ บริษัท ไทยประกันชีวิต จํากัด มีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมในสัญญาประกันชีวิตรายนี้กับผู้รับประโยชน์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 865 “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้าง ได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันทําสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกรุงได้ทําสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัท ไทยประกันชีวิต จํากัด โดยนายกรุงได้ปกปิดเรื่องที่ตนเองเป็นวัณโรคอยู่นั้น ข้อที่นายกรุงได้ปกปิดนี้เห็นได้แน่ชัดว่าเป็นข้อสําคัญ ซึ่งถ้านายกรุงไม่ปกปิดและแถลงความจริงให้บริษัทผู้รับประกันทราบแล้ว บริษัทผู้รับประกันจะต้องบอกปัดไม่ยอม ทําสัญญาประกันชีวิตอย่างแน่นอน เพราะโรคดังกล่าวเป็นโรคร้ายแรงอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆยะ ตั้งแต่ขณะทําสัญญาตามมาตรา 865 วรรคแรก แม้จะปรากฏภายหลัง ว่านายกรุงจะได้ถึงแก่ความตายเพราะเกิดท้องร่วงก็ตาม ก็ไม่ทําให้สัญญาที่ตกเป็นโมฆียะตั้งแต่แรกนั้นเปลี่ยนแปลง มาสมบูรณ์แต่อย่างใดบริษัทผู้รับประกัน จึงมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตนี้ได้
อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติมาตรา 865 วรรคสอง ได้กําหนดว่า ผู้รับประกันชีวิตจะต้องบอกล้าง สัญญาประกันชีวิตที่เป็นโมฆียะนั้นภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ หรือภายใน กําหนด 5 ปีนับแต่วันทําสัญญา มิฉะนั้นสิทธิบอกล้างย่อมเป็นอันระงับสิ้นไป กรณีนี้แม้บริษัท ไทยประกันชีวิต จํากัด จะได้บอกล้างสัญญาที่เป็นโมฆียกรรมนี้ภายในกําหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ แต่ก็เป็นเวลา เกินกว่า 5 ปีนับแต่วันทําสัญญาแล้ว ดังนั้น บริษัท ไทยประกันชีวิต จํากัด จึงไม่มีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมสัญญา ประกันชีวิตฉบับนี้
สรุป
บริษัท ไทยประกันชีวิต จํากัด ไม่มีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมสัญญาประกันชีวิตฉบับนี้
ข้อ 2 นายก้านเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ทําสัญญาประกันภัยโดยคุ้มครองรถถูกลักขโมยด้วยกับบริษัท มั่นคงประกันวินาศภัยไว้ 1 ปี จํานวนเงินเอาประกันภัย 5 แสนบาท หลังจากทําสัญญา 7 เดือน นายก้าน ขายรถคันดังกล่าวโดยโอนกรรมสิทธิ์ให้นายเข้ม ต่อมาอีก 1 เดือน ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย รถของนายเข้มที่ซื้อจากนายก้านถูกโจรกรรมไป นายเข้มจึงแจ้งบริษัท มั่นคงฯ โดยไม่ชักช้าเพื่อเรียก ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังนี้ บริษัท มั่นคงฯ มีหน้าที่จ่ายค่าสินไหมทดแทนจํานวน 5 แสนบาทให้แก่นายเข้มหรือไม่ เพราะเหตุใด จงยกตัวบทอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้นถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 875 “ถ้าวัตถุอันได้เอาประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือโดยบทบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ยอมโอนตามไปด้วย
ถ้าในสัญญามิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและ บอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่ง ถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายก้านซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ทําสัญญาประกันภัยโดยคุ้มครองรถถูกลักขโมย ด้วยกับบริษัท มั่นคงประกันวินาศภัย นั้น ถือได้ว่านายก้านผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันไว้นั้นตามมาตรา 863 ใน ปานกลาง และตามข้อเท็จจริง การที่นายก้านได้ขายรถยนต์ที่ทําประกันภัยไปให้นายเข้ม ซึ่งถือว่าเป็น การโอนวัตถุที่เอาประกันภัยโดยทางนิติกรรมสัญญาตามมาตรา 875 วรรคสอง
ดังนั้นสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้น จะโอนไปด้วยก็ต่อเมื่อได้มีการบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยด้วย เมื่อการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ามีการบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัย สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยจึงไม่โอนไปยังนายเข้ม ดังนั้นเมื่อรถยนต์ของนายเข้มที่ซื้อจากนายก้านถูกโจรกรรมไป บริษัท มั่นคงประกันวินาศภัย จึงไม่มีหน้าที่ที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนจํานวน 5 แสนบาทให้แก่นายเข้ม
สรุป
บริษัทมั่นคงประกันวินาศภัยไม่มีหน้าที่จ่ายค่าสินไหมทดแทนจํานวน 5 แสนบาทให้แก่นายเข้ม
ข้อ 3 นายหารเอาประกันชีวิตตนเองอาศัยเหตุแห่งความมรณะ สัญญามีกําหนด 10 ปี จํานวนเงินที่เอาประกัน 1 ล้านบาท โดยระบุให้นางสาวมีนาเป็นผู้รับประโยชน์ และได้มอบกรมธรรม์ประกันภัย ให้นางสาวมีนาเก็บไว้ ต่อมานายหารโกรธนางสาวมีนาที่ไม่ทํางานเอาแต่เที่ยวเตร่ จึงมีจดหมายแจ้ง บริษัทประกันภัยว่าขอเปลี่ยนให้นายเมษาบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์แทนนางสาวมีนา หลังจาก ทําประกันชีวิตได้ 4 ปี นายหารขาดส่งเบี้ยประกันภัย และหลังจากนั้นอีก 3 ปี นายหารถึงแก่ความตาย นายเมษาจึงไปขอรับเงินตามสัญญาประกันชีวิตจากบริษัท แต่นางสาวมีนาคัดค้านโดยอ้างว่าตน เป็นผู้รับประโยชน์โดยชอบแต่ผู้เดียว และบริษัทก็ปฏิเสธการใช้เงินใด ๆ ทั้งสิ้น โดยอ้างว่านายหาร ผู้ตายขาดส่งเบี้ยประกันภัย 3 ปี มีผลเป็นการเลิกสัญญาประกันภัยแล้ว
อยากทราบว่า ข้ออ้าง ของบริษัทประกันภัยและข้ออ้างของนางสาวมีนาฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 891 วรรคแรก “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะถือเอา ประโยชน์แห่งสัญญานั้น”
มาตรา 894 “ผู้เอาประกันภัยขอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ด้วย การงดไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัย ชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสําเร็จจากผู้รับประกันภัย”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 891 วรรคแรกนั้น แม้ผู้เอาประกันชีวิตจะได้กําหนดตัวผู้รับประโยชน์ ตามสัญญาประกันชีวิตไว้แล้ว ผู้เอาประกันชีวิตก็ยังมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์ตามสัญญานั้นให้บุคคลอื่นได้ (โอนสิทธิ เรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตในการที่จะได้รับชดใช้เงินที่เอาประกันภัย) เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ประการต่อไปนี้ ผู้เอาประกันชีวิตไม่มีสิทธิโอนประโยชน์ให้แก่ผู้ใดอีก คือ
1 ได้ส่งมอบกรมธรรม์นั้นให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และ
2 ผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
กรณีตามอุทาหรณ์
แม้นายหารจะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้กับนางสาวมีนาผู้รับประโยชน์ แล้วก็ตาม แต่เมื่อนางสาวมีนาผู้รับประโยชน์ยังมิได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังบริษัทผู้รับประกันภัยว่าตนจะถือเอา ประโยชน์ตามสัญญานั้น สิทธิของนางสาวมีนาจึงยังไม่สมบูรณ์ นายหารผู้เอาประกันภัยจึงสามารถโอนประโยชน์แห่ง สัญญาให้กับนายเมษาได้ ดังนั้น การที่นางสาวมีนาอ้างว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์โดยชอบแต่ผู้เดียวนั้น ข้ออ้างของ นางสาวมีนาจึงฟังไม่ขึ้น
และการที่นายหารผู้เอาประกันภัยขาดส่งเบี้ยประกันภัยนั้น ถือได้ว่ามีเจตนาบอกเลิกสัญญา ประกันภัยแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่านายหารได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี บริษัทผู้รับ ประกันภัยต้องคืนค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือมอบกรมธรรม์ใช้เงินสําเร็จให้แก่ผู้เอาประกันภัย แต่เนื่องจาก นายหารผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายไปแล้วโดยที่ยังไม่ได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย
ดังนั้น บริษัท จึงต้องจ่ายเงินตามกรมธรรม์ใช้เงินสําเร็จรูปให้กับนายเมษาผู้รับประโยชน์
สรุป
ข้ออ้างของบริษัทฟังไม่ขึ้น บริษัทต้องจ่ายเงินตามกรมธรรม์ใช้เงินสําเร็จให้กับนายเมษา ผู้รับประโยชน์ และข้ออ้างของนางสาวมีนาก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกันตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น