การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายจรัลต้องการซื้อที่ดินที่เกาะช้าง 1 แปลง ราคา 1 ล้านบาท จึงโทรศัพท์ไปหาเพื่อนของตนคือนายปรีดาให้ช่วยจัดหาที่ดินให้โดยบอกว่า “ถ้ามีใครสนใจอยากขายที่ดิน ให้นายปรีดาติดต่อขอซื้อ ไปได้เลยโดยไม่ต้องบอกผู้ขายว่านายปรีดามาซื้อที่ดินแทนใคร” นายปรีดาตอบตกลง นายจรัล จึงโอนเงินให้นายปรีดา 1 ล้านบาทเพื่อทําการซื้อที่ดิน ต่อมาอีก 2 เดือน นางสมใจประกาศ ขายที่ดิน 1 แปลงราคา 1 ล้านบาท นายปรีดาจึงทําการซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ในนามของตนเอง ต่อมานายจรัลทราบว่านายปรีดาซื้อที่ดินได้สําเร็จตามที่ตกลงกันจึงแจ้งไปยังนายปรีดาให้มา ทําการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ตน แต่นายปรีดาปฏิเสธโดยอ้างว่าการตั้งตัวแทนให้ทําการซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์นั้นจะต้องทําเป็นหนังสือ นายจรัลตั้งนายปรีดาเป็นตัวแทนด้วยวาจาผ่านทาง โทรศัพท์เท่านั้น การตั้งตัวแทนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายปรีดาไม่จําต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คืนแก่นายจรัล ข้ออ้างของนายปรีดาฟังขึ้นหรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 798 “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทําเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทน เพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้อง มีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”

มาตรา 806 “ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทําไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทําการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทําให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อน ที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่”

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจรัลได้ตั้งให้นายปรีดาเป็นตัวแทนเพื่อทําการซื้อขายที่ดิน 1 แปลง ที่เกาะช้างผ่านทางโทรศัพท์ โดยกําหนดเงื่อนไขให้นายปรีดาติดต่อขอซื้อที่ดินไปได้เลยโดยไม่ต้องบอกผู้ขายว่า นายปรีดามาซื้อที่ดินแทนใครนั้น ถือว่านายจรัลเป็นตัวการซึ่งไม่ได้เปิดเผยชื่อตามมาตรา 806 ดังนั้น นายปรีดาตัวแทนจะต้องเข้าผูกพันรับผิดแก่บุคคลภายนอกโดยลําพังตนเองเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นตัวการเสียเอง และถึงแม้ว่ากิจการที่นายปรีดาตัวแทนไปกระทําคือการไปซื้อที่ดินนั้น ตามกฎหมายบังคับว่าต้องทําเป็นหนังสือ ซึ่งการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการดังกล่าวก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วยก็ตาม แต่ในเรื่องของตัวการซึ่งไม่ได้เปิดเผยชื่อตามมาตรา 806 นั้น ถือเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 798 ดังนั้น การที่นายจรัลตั้งให้นายปรีดาเป็นตัวแทนไปซื้อ ที่ดินดังกล่าวแม้จะทําด้วยวาจาผ่านทางโทรศัพท์ การตั้งตัวแทนก็มีผลสมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมาย

และเมื่อนายปรีดาได้ทําการซื้อที่ดินดังกล่าวไว้ในนามของตนเองตามความประสงค์ของนายจรัล ตัวการแล้ว นายปรีดาจึงมีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้แก่นายจรัลอันเป็นหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา 810 ดังนั้น เมื่อนายจรัลแจ้งไปยังนายปรีดาให้มาทําการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ตน แต่นายปรีดาปฏิเสธโดย อ้างว่าการตั้งตัวแทนให้ทําการซื้อขายที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนายปรีดาไม่จําต้องโอนกรรมสิทธิ์ เที่ดินคืนให้แก่นายจรัลนั้น ข้ออ้างของนายปรีดาจึงฟังไม่ขึ้น นายปรีดาจะต้องทําการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แปลงดังกล่าวคืนให้แก่นายจรัล

สรุป ข้ออ้างของนายปรีดาฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. นายอาทิตย์เปิดร้านขายรถจักรยานยนต์มือสองอยู่ที่ถนนลาดพร้าว มีทั้งขายเงินสด ขายเงินผ่อนและขายเชื่อ นายจันทร์ได้นํารถจักรยานยนต์ใช้แล้วของตนหนึ่งคันไปฝากนายอาทิตย์ขาย ในราคา 3 หมื่นบาทโดยตกลงกันว่าถ้าขายได้จะให้บําเหน็จแก่นายอาทิตย์จํานวน 2 พันบาท และในขณะเดียวกันก็ให้นายอาทิตย์ซื้อจักรยานยนต์ใช้แล้วไม่เกิน 3 ปีให้ตนใหม่หนึ่งคันราคา ไม่เกิน 4 หมื่นบาท โดยตกลงจะให้บําเหน็จแก่นายอาทิตย์จํานวน 2 พันบาทเช่นกัน นายอาทิตย์ ได้นํารถจักรยานยนต์ของนายจันทร์ไปขายเพื่อให้แก่นายพุธ เมื่อหนี้ถึงกําหนด นายพุธไม่นําเงิน มาชําระ กรณีนี้นายอาทิตย์หรือนายจันทร์จะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารถจักรยานยนต์จากนายพุธ และถ้าฟ้องแล้วนายพุธไม่มีเงินมาชําระ นายอาทิตย์จะต้องรับผิดต่อนายจันทร์หรือไม่ เพราะเหตุใด อีกกรณีหนึ่ง นายอาทิตย์ได้ไปซื้อเชื่อรถจักรยานยนต์คันใหม่จากนายศุกร์โดยอ้างว่าตนซื้อไปให้ นายจันทร์ ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกําหนด นายอาทิตย์ไม่นําเงินไปชําระให้แก่นายศุกร์ ดังนี้ นายศุกร์ จะฟ้องนายอาทิตย์หรือนายจันทร์ให้ชําระหนี้แก่ตน เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อ หรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”

มาตรา 837 “ในการที่ตัวแทนค้าต่างทําการขายหรือซื้อหรือจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่น ร่างตัวการนั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคูสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทนค้า ต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย”

มาตรา 838 “ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อ ถ้วการเพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกําหนดในสัญญา หรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทน ประพฤติต่อกัน หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น

อนึ่ง ตัวแทนค้าต่างคนใดเข้ารับประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยนัยดังกล่าวมาในวรรคก่อน นั้นไซร้ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นชื่อว่าเป็นตัวแทนฐานประกัน ชอบที่จะได้รับบําเหน็จพิเศษ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 837 ได้บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนค้าต่างต่อบุคคล ภายนอกไว้ว่า เมื่อตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายหรือซื้อหรือจัดทํากิจการอย่างใดแทนตัวการแล้ว ตัวแทนค้าต่างย่อม ต้องผูกพันเป็นคู่สัญญากับบุคคลภายนอกโดยตรง ถ้าบุคคลภายนอกผิดสัญญา ตัวแทนค้าต่างย่อมมีสิทธิฟ้องร้อง ตามสัญญานั้นในนามของตนเองได้ และในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกตามสัญญานั้นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์เปิดร้านขายรถจักรยานยนต์มือสองอยู่ที่ถนนลาดพร้าว และนายจันทร์ได้นํารถจักรยานยนต์ใช้แล้วของตนหนึ่งคันไปฝากนายอาทิตย์ขาย และในขณะเดียวกันก็ให้นายอาทิตย์ ซื้อจักรยานยนต์ใช้แล้วให้ตนใหม่หนึ่งคันโดยตกลงจะให้บําเหน็จแก่นายอาทิตย์นั้น ย่อมถือว่านายอาทิตย์เป็น ตัวแทนค้าต่างของนายจันทร์ตามมาตรา 833

การที่นายอาทิตย์ได้นํารถจักรยานยนต์ของนายจันทร์ไปขายเพื่อให้แก่นายพุธ และเมื่อหนี้ ถึงกําหนดนายพุธไม่นําเงินมาชําระนั้น นายอาทิตย์ผู้เป็นตัวแทนค้าต่างในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นผู้ที่มีสิทธิ ฟ้องเรียกค่ารถจักรยานยนต์จากนายพุธ เพราะนายอาทิตย์ได้ทําสัญญาขายเชื่อรถจักรยานยนต์ให้แก่นายพุธ ในนามของตนเอง จึงมีสิทธิต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการขายรถจักรยานยนต์นั้นตามมาตรา 837 และถ้าฟ้องแล้ว นายพุธไม่มีเงินมาชําระ นายอาทิตย์ซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างไม่ต้องรับผิดต่อนายจันทร์ตามมาตรา 838 วรรคหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่ง การที่นายอาทิตย์ได้ไปซื้อเชื่อรถจักรยานยนต์คันใหม่จากนายศุกร์โดยอ้างว่าตน ซื้อไปให้นายจันทร์นั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดนายอาทิตย์ไม่นําเงินไปชําระให้แก่นายศุกร์ ดังนี้นายศุกร์ย่อมมีสิทธิ ฟ้องนายอาทิตย์ให้ชําระหนี้ให้แก่ตนได้ เพราะนายอาทิตย์เป็นตัวแทนค้าต่างทําการซื้อรถจักรยานยนต์กับนายศุกร์ ในนามของตนเอง แม้จะอ้างว่าตนซื้อไปให้นายจันทร์ก็ตาม แต่นายอาทิตย์ตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อ นายศุกร์คู่สัญญาด้วยตามมาตรา 837

สรุป ถ้านายพุธไม่นําเงินมาชําระ นายอาทิตย์เป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารถจักรยานยนต์จาก นายพุธ และถ้าฟ้องแล้วนายพุธไม่มีเงินมาชําระ นายอาทิตย์ไม่ต้องรับผิดต่อนายจันทร์

อีกกรณีหนึ่ง ถ้านายอาทิตย์ไม่นําเงินไปชําระแก่นายศุกร์ นายศุกร์มีสิทธิฟ้องให้นายอาทิตย์ ชําระหนี้ให้แก่ตนได้

 

ข้อ 3. นายมงคลตกลงให้นายจุ๊บเป็นนายหน้าขายที่ดินของนายมงคล โดยนายมงคลจะให้ค่านายหน้าร้อยละ 5 ของราคาที่ขายได้ นายมงคลได้มอบนามบัตรของนายมงคลซึ่งมีที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ ที่บ้านของนายมงคลกับได้มอบแผนที่หลังโฉนดที่ดินที่นายมงคลต้องการขายให้แก่นายจุ๊บไว้ด้วย ต่อมานายต้นและนายบุญมาถามซื้อที่ดินบริเวณนั้น นายจุ๊บจึงพาคนทั้งสองไปดูที่ดินของนายมงคล หลังจากนั้นนายต้นและนายบุญได้ไปพานายพลและนายยลมาดูที่ดินของนายมงคลด้วย โดยนายพล ตกลงจะซื้อที่ดินนั้น นายต้นและนายบุญจึงขอนามบัตรของนายมงคลและแผนที่หลังโฉนดมาจาก นายจุ๊บแล้วมอบให้นายพลไปติดต่อกับนายมงคลเอง ในที่สุดนายพลได้เข้าทําสัญญาซื้อที่ดิน แปลงดังกล่าวกับนายมงคลในราคา 5,000,000 บาท เมื่อนายจุ๊บได้ทราบเรื่องการทําสัญญาซื้อขาย ระหว่างนายมงคลและนายพลแล้ว จึงติดต่อนายมงคลเพื่อขอบําเหน็จนายหน้าร้อยละ 5 ตามที่ นายมงคลเคยตกลงกับนายจุ๊บไว้ในการเป็นนายหน้าให้นายมงคลในการขายที่ดินแปลงดังกล่าว เช่นนี้ นายมงคลจะต้องจ่ายบําเหน็จนายหน้าให้แก่นายจุบหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้า ทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และนายหน้า รับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมจะได้รับ ค่าบําเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมงคลตกลงให้นายจุ๊บเป็นนายหน้าขายที่ดินของนายมงคล โดย นายมงคลจะให้ค่านายหน้าร้อยละ 5 ของราคาที่ขายได้ ต่อมานายต้นและนายบุญมาถามซื้อที่ดินบริเวณนั้น นายจุ๊บจึงพาคนทั้งสองไปดูที่ดินของนายมงคล หลังจากนั้นนายต้นและนายบุญได้ไปพานายพลและนายยลมาดู ที่ดินของนายมงคลด้วย โดยนายพลตกลงจะซื้อที่ดินนั้น นายต้นและนายบุญจึงขอนามบัตรของนายมงคลและ แผนที่หลังโฉนดมาจากนายจุ๊บแล้วมอบให้นายพลไปติดต่อกับนายมงคลเอง และในที่สุดนายพลได้เข้าทําสัญญา ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกับนายมงคลนั้น ย่อมถือว่าการที่นายพลและนายมงคลได้เข้าทําสัญญาซื้อขายที่ดินของ นายมงคลเป็นผลสําเร็จนั้น เป็นผลมาจากการชี้ช่องของนายจุ๊บแล้วตามมาตรา 845 เพราะการที่นายพลได้ ทราบถึงการขายที่ดินของนายมงคลนั้น แม้จะเป็นการที่นายต้นและนายบุญได้มอบนามบัตรและแผนที่หลังโฉนด ห้แก่นายพลไปติดต่อเองก็ตาม แต่เพราะเหตุที่นายต้นและนายบุญทราบได้นั้นก็เพราะนายจุ๊บได้ชี้ช่องไว้นั่นเอง ดังนั้น นายมงคลจึงต้องจ่ายบําเหน็จนายหน้าให้แก่นายจุ๊บร้อยละ 5 ตามที่ได้สัญญาไว้

สรุป นายมงคลต้องจ่ายบําเหน็จให้นายจุ๊บ

Advertisement