การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. เอก ตัวการเซ็นชื่อในใบมอบอํานาจให้โทตัวแทนไปทําการอย่างหนึ่ง คือให้นําที่ดินไปจํานองโดยให้โทไปกรอกข้อความเอง โทกรอกข้อความว่าให้นําที่ดินไปขายฝาก ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของเอกตัวการ และโทได้นําที่ดินไปขายฝากกับดํา ดํารับซื้อฝากไว้โดยสุจริตโดยคิดว่าโทมีอํานาจทําได้ ดังนี้จากพฤติการณ์ของตัวการดังกล่าว เอกตัวการจะต้องผูกพันรับผิดในผลของการกระทําของโท ตัวแทนหรือไม่ มีระยะเวลา เอกตัวการจะปฏิเสธหรือฟ้องเพิกถอนสัญญาที่โททํากับดําได้หรือไม่ ตามหลักกฎหมายใด
และเอกตัวการฟ้องโทว่าปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม และศาลพิพากษาว่าโทผิดจริง ตามฟ้อง ดังนี้ เอกจะนําคําพิพากษานั้นมาอ้างทําให้ดําบุคคลภายนอกเสียสิทธิ์นั้นไปได้หรือไม่
เพราะเหตุใด ใช้หลักกฎหมายใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 821 “บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้ บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน”
มาตรา 822 “ถ้าตัวแทนทําการอันใดเกินอํานาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทําให้ บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอํานาจของตัวแทนไซร์ ท่านให้ใช้บทบัญญัติ มาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับ แล้วแต่กรณี”
วินิจฉัย
การที่เอกลงลายมือชื่อในใบมอบอํานาจให้โทตัวแทนไปจํานองที่ดิน โดยไม่กรอกข้อความ ลงในใบมอบอํานาจ เป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อย่อมเสี่ยงภัยในการกระทําของตนเองอย่างร้ายแรง เมื่อโทนําใบมอบอํานาจไปกรอกข้อความเป็นให้ขายฝาก ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของเอก เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตามมาตรา 822 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทน คือโททําการเกินอํานาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทําให้บุคคลภายนอกมีเหตุอันสมควรจะเชื่อว่า การนั้นอยู่ภายในขอบอํานาจของตัวแทน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าดํารับซื้อฝากไว้โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ดังนั้น เอกตัวการจึงต้องรับผิดผูกพัน กับการกระทําของโทตัวแทนตามมาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 671/2523)
เมื่อเอกตัวการจะต้องรับผิดผูกพันกับการกระทําของโทตัวแทนแล้ว ดังนั้นเอกจะปฏิเสธ ความรับผิดโดยอ้างเอาความประมาทเลินเล่อของตนมาเป็นเหตุให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้ และจะฟ้องเพิกถอน สัญญาที่โททํากับดําไม่ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 580/2507)
และแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโทถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เอกก็จะนําคําพิพากษาดังกล่าวมาทําให้กระทบกระเทือนสิทธิของดําซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทําการโดย สุจริตไม่ได้ กล่าวคือ สิทธิของดําย่อมไม่เสียไปเพราะคําพิพากษาดังกล่าว ดังนั้นถ้าหากเอกต้องการได้ที่ดินคืน ก็ต้องชําระสินไถ่ตามกฎหมาย (คําพิพากษาฎีกาที่ 212/2517)
สรุป
เอกตัวการจะต้องผูกพันรับผิดในผลของการกระทําของโทตัวแทน
เอกตัวการจะปฏิเสธหรือฟ้องเพิกถอนสัญญาที่โททํากับดําไม่ได้
เอกตัวการจะนําคําพิพากษานั้นมาอ้างทําให้ดําบุคคลภายนอกเสียสิทธินั้นไปไม่ได้
ข้อ 2. นายทองได้นํารถยนต์ของตนซึ่งใช้มาแล้ว 6 ปี ไปฝากนายเงินซึ่งเป็นเจ้าของเต็นท์ขายรถยนต์มือสองอยู่ที่ถนนรัชดาภิเษกให้เป็นตัวแทนค้าต่างขายรถยนต์มือสองของตนหนึ่งคันในราคา 400,000 บาท นายทองได้ตกลงว่าถ้าขายรถยนต์ได้จะให้ค่าบําเหน็จแก่นายเงินจํานวน 20,000 บาท และได้บอก กับนายเงินว่าถ้ามีความจําเป็นเกี่ยวกับรถยนต์ให้นายเงินออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนแล้วจะจ่ายเงิน คืนให้ในภายหลัง ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวแบตเตอรี่หมดอายุ รถยนต์สตาร์ทไม่ติด นายเงิน จึงได้ซื้อแบตเตอรี่ใหม่มาเปลี่ยนให้โดยออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนเป็นเงินจํานวน 2,000 บาท ต่อมานายเงินได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายเพชรจํานวน 400,000 บาท นายเงินจึงได้หักเงิน ค่าบําเหน็จจํานวน 20,000 บาท และเงินทดรองจ่ายจํานวน 2,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยรวม เป็นเงิน 22,000 บาท และได้ส่งมอบเงินค่าขายรถยนต์ให้แก่นายทองไปจํานวน 378,000 บาท นายทองไม่ยอมรับเงินจํานวนดังกล่าว แต่จะขอรับเงินจํานวน 380,000 บาท โดยยอมให้หัก ค่าบําเหน็จ 20,000 บาท ส่วนค่าแบตเตอรี่นายทองอ้างว่าเป็นหน้าที่ของนายเงินตัวแทนค้าต่างต้อง รับผิดชอบออกเงินเองเพราะเป็นผู้ขายรถยนต์ในนามของนายเงินตัวแทนค้าต่าง ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของนายทองฟังขึ้นหรือไม่ และนายเงินมีสิทธิหักเงินทดรองจ่ายหรือไม่ จ่ายเท่าใด เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 810 วรรคแรก “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็น ตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น”
มาตรา 816 วรรคแรก “ถ้าในการจัดทํากิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเงิน ทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจําเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอา เงินชดใช้จากตัวการ รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้”
มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”
มาตรา 835 “บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตัวแทนนั้น ท่านให้ใช้ บังคับถึงตัวแทนค้าต่างด้วยเพียงที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในหมวดนี้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทองได้นํารถยนต์ของตนไปฝากนายเงินซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่าง ขายในราคา 400,000 บาท โดยตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายเงินจํานวน 20,000 บาท และได้บอกกับนายเงินว่า ถ้ามีความจําเป็นเกี่ยวกับรถยนต์ให้นายเงินออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนแล้วจะจ่ายเงินคืนให้ในภายหลัง และเมื่อ ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวแบตเตอรี่หมดอายุรถยนต์สตาร์ทไม่ติด นายเงินจึงได้ซื้อแบตเตอรี่ใหม่มาเปลี่ยนให้ โดยออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนเป็นเงินจํานวน 2,000 บาทนั้น เมื่อนายเงินขายรถยนต์ได้จึงได้หักเงิน 22,000 บาท
และได้ส่งมอบเงินที่เหลือจํานวน 378,000 บาท ให้แก่นายทอง ถือว่านายเงินตัวแทนได้ส่งมอบเงินที่ได้รับ มาจากการเป็นตัวแทนให้กับตัวการแล้วตามมาตรา 810 วรรคแรก
ส่วนกรณีที่นายทองไม่ยอมรับเงินจํานวน 378,000 บาท แต่จะขอรับเงินจํานวน 380,000 บาท โดยอ้างว่านายเงินเป็นตัวแทนค้าต่างขายรถยนต์ในนามของนายเงินเองตามมาตรา 833 นายเงินจึงต้องรับผิดชอบ ออกเงินเองนั้น ข้ออ้างของนายทองฟังไม่ขึ้น เพราะแม้นายเงินจะขายในนามของตนเอง แต่นายทองได้ตกลงกับ นายเงินว่าถ้ามีความจําเป็นเกี่ยวกับรถยนต์ให้นายเงินออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนแล้วนายทองจะจ่ายเงินคืนให้ใน ภายหลัง ดังนั้น เมื่อนายเงินได้ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อนจํานวน 2,000 บาท นายเงินตัวแทนค้าต่างจึงมีสิทธิ เรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการได้ตามมาตรา 816 วรรคแรก ประกอบมาตรา 835
สรุป
ข้ออ้างของนายทองฟังไม่ขึ้น และนายเงินมีสิทธิหักเงินทดรองจ่ายได้จํานวน 2,000 บาท โดยจ่ายเงินที่เหลือให้แก่นายทองจํานวน 378,000 บาท
ข้อ 3. ที่ดินของ ก. มีที่ดินของ ข. ล้อมอยู่ ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ก. เห็นว่า ค. ชอบพอกันอยู่กับ ข. จึงมอบให้ ค. ช่วยเจรจากับ ข. ขอทําทางผ่านที่ดินของ ข. ออกสู่ถนนสาธารณะ ถ้าสําเร็จจะให้ค่าเหนื่อย 100,000 บาท เมื่อเจรจากัน ข. บอกกับ ค. ว่า หาก ค. ไปพูดให้ ก. ขายที่ดินให้ตนก็จะ ตอบแทนให้ ค. 200,000 บาท จากการเจรจาของ ค. ก. ตกลงทําสัญญาจะขายที่ดินแปลงที่ถูกล้อม ให้ ข. ในราคา 25,000,000 บาท และ ก. ได้จัดการให้ผู้ที่อยู่อาศัยออกจากที่ดินของตนเพื่อให้ทัน กําหนดโอนตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อ ค. มาขอค่าบําเหน็จ 100,000 บาท ก. ไม่ยอมจ่ายโดยอ้างว่า ค. ทําการให้แก่บุคคลภายนอกที่จะให้ค่าบําเหน็จอันเป็นการฝ่าฝืนต่อการที่เข้ารับหน้าที่ ข้ออ้างของ ก. ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 800 “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอํานาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทําการแทนตัวการได้แต่เพียง ในสิ่งที่จําเป็น เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสําเร็จลุล่วงไป”
มาตรา 823 “ถ้าตัวแทนกระทําการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอํานาจก็ดี หรือทํานอกทําเหนือ ขอบอํานาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลําพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทําการโดยปราศจากอํานาจ หรือทํานอกเหนือขอบอํานาจ”
มาตรา 845 วรรคแรก “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้า ทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”
มาตรา 847 “ถ้านายหน้าทําการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือได้รับคํามั่นแต่บุคคลภายนอก เช่นนั้นว่าจะให้ค่าบําเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทําการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับ ทําหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบําเหน็จหรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. ได้มอบให้ ค. ไปเจรจากับ ข. เพื่อ ก. จะขอทําทางผ่านที่ดินของ ข. และถ้า ค. เจรจาได้สําเร็จ ก. จะให้ค่าเหนื่อยแก่ ค. 100,000 บาทนั้น ถือว่าเป็นการมอบอํานาจให้ ค. เป็นตัวแทน รับมอบอํานาจแต่เฉพาะการตามมาตรา 800 และมีลักษณะเป็นการมอบหมายให้ ค. เป็นนายหน้าตามมาตรา 845 ดังนั้น การที่ ค. ได้เสนอให้ ก. ขายที่ดินให้แก่ ช. ซึ่งถ้าทําได้สําเร็จ ค. จะได้บําเหน็จจาก ข. 200,000 บาทนั้น ถือว่า ค. ได้ไปทําการให้แก่ ข. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อการทําหน้าที่นายหน้า ซึ่งโดยหลักแล้ว ค. ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าบําเหน็จหรือได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปตามมาตรา 847
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่าต่อมาได้มีการทําสัญญาจะขายที่ดินระหว่าง ก. กับ ข. ตามที่ ค. เสนอ ดังนี้ ย่อมถือว่า ก. ตัวการยอมรับการกระทําของ ค. ซึ่งเท่ากับ ก. ตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การกระทําของ ค. แล้วตามมาตรา 823 วรรคแรก ดังนั้น ก. จึงต้องจ่ายค่าบําเหน็จให้แก่ ค. การที่ ก. อ้างว่า ค. ทําการให้ ข. ซึ่งเป็น บุคคลภายนอกด้วยจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าบําเหน็จหรือได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เสียไปนั้น ข้ออ้างของ ก. จึงฟังไม่ขึ้น
สรุป
ข้ออ้างของ ก. ฟังไม่ขึ้น