การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  ตกลงให้  ข  ทำการอย่างหนึ่งแทนตน  โดยให้  ข  ออกหน้าเป็นตัวการ  ข  ได้ทำการนั้นกับ  ค  โดย  ค  เข้าใจโดยสุจริตว่า  ข คือเจ้าของกิจการที่  ค  เข้ากระทำด้วย  ต่อมา  ค  ได้รับความเสียหายจาก  ข  ค  จึงฟ้อง  ข  ให้รับผิด  ข  ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า  ข  เป็นเพียงตัวแทนทำแทน  ก  ตัวการได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง  จากโจทย์ข้างต้นว่า  ภายหลังจาก  ค  ทำสัญญากับ  ข  แล้ว  ค  รู้ว่า  ข  เป็นเพียงตัวแทน  และ  ก  เป็นตัวการ  เมื่อ  ค  ได้รับความเสียหายจาก  ข  ค  จะฟ้อง  ก  ให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และ  ก  จะปฏิเสธความรับผิดว่าตนตั้ง  ข  เป็นตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือ  ค  ไม่มีอำนาจฟ้อง  ข้ออ้างของ  ก  ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  806  ตัวการซึ่งมิได้เผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและ เข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทน

ได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการ ผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้น ได้ไม่

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ตกลงให้  ข  ทำการอย่างหนึ่งแทนตนโดยให้ออกหน้าเป็นตัวการ  และ  ข  ได้ทำการนั้นกับ  ค  โดย  ค  เข้าใจโดยสุจริตว่า  ข  คือเจ้าของกิจการที่  ค  เข้ากระทำด้วยนั้น  ถือว่าเป็นเรื่องตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อตามมาตรา  806  เมื่อ  ค บุคคลภายนอกไม่รู้ว่ามีตัวการ  ข  จึงต้องรับผิดต่อ  ค  เช่นเดียวกับเป็นตัวการเอง  ดังนั้น  ข  จะปฏิเสธความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ตามมาตรา  806  (ฎ. 311/2523)

ส่วนอีกประการหนึ่ง  ภายหลังจากทำสัญญา  การที่  ค  รู้ว่า  ข  เป็นเพียงตัวแทนของ  ก  เมื่อเป็นเรื่องตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อตามมาตรา  806  และบุคคลภายนอกรู้แล้วว่าตัวการคือใคร  ดังนั้น  ข  ตัวแทน  จึงหลุดพ้นจากความรับผิด  ค  จึงฟ้อง  ก  ตัวการให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้  และ  ก  จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า  ค  ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ได้  เพราะแม้ว่าการที่  ก  ตั้ง  ข  เป็นตัวแทนจะมิได้ทำเป็นหนังสือ  แต่บทบัญญัติมาตรา  806  เป็นข้อยกเว้นของมาตรา  798  ข้ออ้างของ  ก  จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ประการแรก  ข  จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าตนเป็นเพียงตัวแทนทำแทน  ก  ตัวการไม่ได้  และประการที่สอง  ข้ออ้างของ  ก  ที่ว่า  ค  ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  2  นายแดงเปิดร้านขายทองรูปพรรณอยู่ที่ตลาดบางกะปิมาหลายสิบปีแล้ว  เมื่อวันที่  1  กันยายน  2553  นายดำได้นำทองรูปพรรณหนัก  100  บาท  ซึ่งได้รับมรดกจากมารดามาฝากนายแดงขายโดยตกลงจ่ายบำเหน็จให้แก่นายแดงร้อยละ  3  ซึ่งราคาซื้อขายทองคำเป็นไปตามราคาตลาดโลก  ในวันที่นำมาฝากขายราคาทองคำบาทละ  18,300  บาท  ต่อมาวันที่  10  กันยายน  2553  ราคาทองคำตามราคาตลาดโลกบาทละ  18,500  บาท  นายแดงจึงอยากซื้อทองรูปพรรณของนายดำที่นำมาฝากขายเพราะเห็นว่าราคาทองคำจะต้องขึ้นราคาสูงกว่า  18,500  บาท  ถ้าตนซื้อไว้คงจะได้กำไร  จึงได้โทรศัพท์ไปบอกกล่าวแก่นายดำ  นายดำได้รับคำบอกกล่าวแล้วก็ไม่ได้บอกปัดในทันทีที่ได้รับโทรศัพท์เพราะต้องการได้เงินจากการขายทองรูปพรรณ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  สัญญาซื้อขายทองรูปพรรณดังกล่าว  เกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด  และนายแดงจะคิดเอาบำเหน็จจากนายดำได้หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  833  อันว่าตัวแทนค้าต่าง  คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อ  หรือขายทรัพย์สิน  หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ

มาตรา 843  ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้  เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญาในกรณีเช่นนั้น  ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น  ณ  สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

เมื่อตัวการรับคำบอกกล่าวเช่นนั้น  ถ้าไม่บอกปัดเสียในที  ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว

อนึ่งแม้ในกรณีเช่นนั้น  ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้

วินิจฉัย  

ตามมาตรา  843  ได้บัญญัติไว้ว่า  ถ้าตัวการมอบหมายให้ตัวแทนค้าต่างขายทรัพย์สินแทนตน  และทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  และไม่มีข้อห้ามโดยชัดแจ้งในสัญญาตัวแทนค้าต่างจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้นไว้เสียเองก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  ตัวแทนค้าต่างจะต้องบอกกล่าวให้ตัวการรู้ด้วยว่าตนเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้น  ซึ่งถ้าตัวการไม่ต้องการขายให้ตัวแทนค้าต่างก็ต้องบอกปัดในทันที  ไม่เช่นนั้นจะถือว่าตัวการได้สนองรับคำบอกกล่าวนั้นแล้ว  และนอกจากนี้ตัวแทนค้าต่างก็ยังมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามสัญญาอีกด้วย

ตามอุทาหรณ์  การที่นายดำนำทองรูปพรรณไปฝากนายแดงขาย  ซึ่งนายแดงได้เปิดร้านขายทองรูปพรรณมาหลายสิบปีแล้วนั้น  ถือว่านายแดงเป็นตัวแทนค้าต่างตามมาตรา  833

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ต่อมาราคาทองคำได้เพิ่มสูงขึ้นตามราคาตลาดโลกซึ่งถือเป็นรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  เมื่อนายแดงเห็นว่าราคาทองคำจะมีแนวโน้มสูงขึ้นจึงต้องการซื้อทองรูปพรรณของนายดำไว้เพื่อเก็งกำไร  ดังนี้นายแดงก็ย่อมสามารถทำได้  เพราะในสัญญาไม่มีข้อห้ามไว้ตามมาตรา  843  วรรคแรก

และเมื่อนายแดงโทรศัพท์ไปบอกกล่าวแก่นายดำตัวการ  ซึ่งนายดำได้รับคำบอกกล่าวแล้วแต่มิได้บอกปัดในทันที  จึงถือว่านายดำได้สนองรับคำบอกกล่าวนั้นแล้ว  สัญญาซื้อขายทองรูปพรรณระหว่างนายแดงกับนายดำจึงเกิดขึ้นตามมาตรา  843  วรรคสอง  และนอกจากนี้นายแดงก็ยังคิดเอาบำเหน็จร้อยละ  3  จากนายดำเนื่องจากการซื้อขายของตนได้อีกด้วยตามมาตรา  843  วรรคท้าย

สรุป  สัญญาซื้อขายทองรูปพรรณดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว  และนายแดงสามารถคิดเอาบำเหน็จจากนายดำได้

 

ข้อ  3  หลังจากบิดาตาย  ที่ดินส่วนมรดกของบิดาก็ตกทอดแก่ทายาทคือมารดาและบุตรอีกสองคน  ซึ่งเข้ารับมรดกมีชื่อร่วมกันในโฉนดดังกล่าว  เมื่อต้องการขายที่ดินเพื่อเอาเงินมาแบ่งกัน  มารดาก็จัดการขายที่ดินโดยให้ขาวเป็นนายหน้า  ในขณะที่ขาวมาพูดคุยกับมารดาเรื่องการขายที่ดินโดยมีค่านายหน้าบุตรก็ทราบและการพูดคุยบางครั้งบุตรก็อยู่ด้วย  เมื่อขาวหาคนมาซื้อที่ดินได้แล้ว  บุตรสองคนไม่ยอมจ่ายค่านายหน้า  โดยอ้างว่าไม่เคยตกลงให้ขาวเป็นนายหน้า  ข้ออ้างฟังขึ้นหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  821  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

มาตรา 845  วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

โดยหลัก  สัญญานายหน้านั้น  ถ้าได้มีการตกลงกันในเรื่องบำเหน็จและนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาทำสัญญากับตัวการจนสำเร็จแล้ว  นายหน้าก็ย่อมมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามที่ตกลงกันไว้  ตามมาตรา  845  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่มารดาจัดการขายที่ดิน  โดยให้ขาวเป็นนายหน้า  ซึ่งในขณะที่ขาวมาพูดคุยกับมารดาเรื่องการขายที่ดินโดยมีค่านายหน้าบุตรก็ทราบ  และการพูดคุยบางครั้งบุตรก็อยู่ด้วยนั้น  ถือได้ว่าบุตรทั้งสองคนได้เชิดมารดาออกเป็นตัวแทนของตนในการทำสัญญานายหน้ากับขาวแล้วตามมาตรา  821

ดังนั้น  เมื่อขาวหาคนมาซื้อที่ดินดังกล่าวได้แล้ว  ถือว่าเป็นกรณีที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลภายนอกได้เข้าทำสัญญากับตัวการจนสำเร็จ  ดังนั้นบุตรทั้งสองซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดร่วมกับมารดาซึ่งเป็นตัวแทนของตน  ในการจ่ายค่านายหน้าให้แก่นายขาวด้วยตามมาตรา  821  ประกอบมาตรา  845  วรรคแรก  ข้ออ้างของบุตรทั้งสองคนที่ว่าไม่เคยตกลงให้ขาวเป็นนายหน้าจึงไม่ต้องจ่ายค่านายหน้านั้นฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของบุตรทั้งสองคนดังกล่าวฟังไม่ขึ้น 

Advertisement