การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก มอบ ข ให้ไปซื้อบ้านไม้สัก 1 หลัง ที่จังหวัดลำปาง ก ให้เงิน ข ไปไม่พอ ข จึงทดรองจ่ายให้ไปก่อน 500,000 บาท ข รื้อบ้านออกมาเป็นไม้ชิ้นๆ เพื่อสะดวกในการขนย้าย ขนไม้มาถึงบ้าน ข เรียก ก ให้มารับไม้ไปและบอกให้ ก นำเงินมาชำระ 500,000 บาทด้วย ก มาถึงจะรับแต่ไม้ไป แต่ไม่ยอมชำระหนี้ ข จึงยึดไม้นั้นไว้จนล่วงเวลา จนขาดอายุความ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข จะฟ้องศาลเพื่อให้ศาลบังคับขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้นั้นได้หรือไม่ และถ้าขายทอดตลาดแล้ว เงินไม่พอชำระหนี้ ข จะทำประการใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/27 ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้
มาตรา 248 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 193/27 การใช้สิทธิยึดหน่วงหาทำให้อายุความแห่งหนี้สะดุดหยุดลงไม่
มาตรา 816 ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออกเงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้
มาตรา 819 ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินใดๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตน เพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก มอบ ข ให้ไปซื้อบ้านที่จังหวัดลำปาง โดย ก ให้เงิน ข ไปไม่พอ จึงทดรองจ่ายให้ไปก่อนนั้น ถือเป็นกรณีที่ตัวแทนออกเงินทดรองจ่ายแทนตัวการไปในการทำกิจการที่ตัวการมอบหมาย ตามมาตรา 816 วรรคแรก ซึ่งตัวแทนสามารถเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการรวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยได้ และหากตัวการไม่ยอมชำระหนี้ ตัวแทนก็มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินของตัวการไว้ จนกว่าจะได้รับเงินที่ตัวการค้างชำระแก่ตนได้ตามมาตรา 819
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก ไม่ยอมชำระเงินจำนวนดังกล่าวที่ค้างชำระแก่ ข ข จึงมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินของ ก ตัวการ คือไม้สัก ซึ่งอยู่ในความครอบครองของตนไว้ได้ จนกว่าจะได้รับเงินที่ ก ตัวการค้างชำระแก่ตนตามมาตรา 819 ซึ่งการที่ ข ใช้สิทธิยึดหน่วงไม้สักไว้นั้น ย่อมไม่ทำให้อายุความแห่งหนี้ที่ ก ค้างชำระแก่ ข สะดุดหยุดลงตามมาตรา 248
อย่างไรก็ตาม แม้ ข จะยึดหน่วงไม้นั้นไว้จนหนี้ขาดอายุความแล้ว ข ก็ยังสามารถฟ้องศาล เพื่อให้ศาลบังคับขายทอดตาดทรัพย์ที่ยึดไว้นั้นได้ แต่เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดหน่วงแล้วเงินไม่พอชำระหนี้ ข ก็จะไม่มีสิทธิที่จะเรียกเอาส่วนที่ยังขาดได้อีกตามมาตรา 193/27 ที่มีหลักว่า ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนเป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม
สรุป ข สามารถฟ้องศาลเพื่อให้ศาลบังคับขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้นั้นได้ แต่เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดหน่วงแล้วเงินไม่พอชำระหนี้ ข ก็จะไม่มีสิทธิที่จะเรียกเอาส่วนที่ยังขาดได้อีก
ข้อ 2 นายเกษมเป็นเจ้าของร้านขายทองรูปพรรณซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนรามคำแหง นางมุกดาต้องการขายทองคำแท่งหนัก 50 บาท จึงได้มอบให้นายเกษมเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำของตน โดยตกลงว่าถ้าขายได้จะจ่ายบำเหน็จให้นายเกษม จำนวน 20,000 บาท ปรากฏว่าก่อนนำทองคำแท่งมาฝากขายราคาทองคำแท่งบาทละ 25,000 บาท นางมุกดาได้บอกกับนายเกษมว่า ถ้าราคาทองคำสูงกว่านี้ให้นายเกษมขายทองคำแท่งให้ด้วย ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555 ปรากฏว่า ราคาทองคำแท่งตามราคาตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ 24,000 บาท นายเกษมต้องการซื้อทองคำดังกล่าวไว้เอง เพื่อหวังผลกำไรในภายหน้า จึงได้โทรศัพท์ไปแจ้งให้นางมุกดาทราบว่าตนจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง นางมุกดาไม่ได้บอกปัดในทันที ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายทองคำแท่งเกิดขึ้นหรือไม่ และนายเกษมจะได้รับเงินบำเหน็จจากนางมุกดาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 843 ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญาในกรณีเช่นนั้น ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น ณ สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย
เมื่อตัวการรับคำบอกกล่าวเช่นนั้น ถ้าไม่บอกปัดเสียในที ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว
อนึ่งแม้ในกรณีเช่นนั้น ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้
วินิจฉัย
ตามมาตรา 843 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าตัวการมอบหมายให้ตัวแทนค้าต่างขายทรัพย์สินแทนตน และทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน และไม่มีข้อห้ามโดยชัดแจ้งในสัญญาตัวแทนค้าต่างจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้นไว้เสียเองก็ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ตัวแทนค้าต่างจะต้องบอกกล่าวให้ตัวการรู้ด้วยว่าตนเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าตัวการไม่ต้องการขายให้ตัวแทนค้าต่างก็ต้องบอกปัดในทันที ไม่เช่นนั้นจะถือว่าตัวการได้สนองรับคำบอกกล่าวนั้นแล้ว และนอกจากนี้ตัวแทนค้าต่างก็ยังมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามสัญญาอีกด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางมุกดาได้มอบให้นายเกษมเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำแท่งของตนและตกลงจะจ่ายบำเหน็จให้จำนวน 20,000 บาท ต่อมาราคาทองคำแท่งลดลงตามราคาตลาดโลกซึ่งถือเป็นรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน นายเกษมจึงต้องการซื้อทองคำดังกล่าวไว้เองเพื่อเก็งกำไรในภายหน้านั้น ดังนี้นายเกษมก็ย่อมสามารถทำได้ เพราะในสัญญาไม่มีข้อห้ามไว้ ตามมาตรา 843 วรรคแรก
และเมื่อนายเกษมโทรศัพท์ไปแจ้งให้นางมุกดาทราบว่าตนจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง แต่ปรากฏว่านางมุกดาไม่บอกปัดในทันทีที่ได้รับแจ้ง กรณีนี้จึงถือว่านางมุกดาตัวการเป็นอันได้สนองรับคำแจ้งนั้นแล้ว สัญญาซื้อขายทองคำแท่งระหว่างนางมุกดากับนายเกษมจึงเกิดขึ้นตามมาตรา 843 วรรคสอง และนอกจากนี้ นายเกษมก็ยังสามารถคิดเอาบำเหน็จจำนวน 20,000 บาท จากนางมุกดา เนื่องจากการซื้อขายของตนได้อีกด้วย แม้นายเกษมจะเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งเหล่านั้นไว้เองตามมาตรา 843 วรรคท้าย
สรุป สัญญาซื้อขายทองคำแท่งเกิดขึ้นแล้ว และนายเกษมมีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จจากนางมุกดา
ข้อ 3 วันหนึ่ง ริมถนนสายที่พนิตจะต้องขับรถจากบ้านไปทำงานทุกวันนั้น มีแผ่นป้ายข้อความว่า
ที่ดินแปลงนี้ขาย 20 – 3 – 98 ราคาไร่ละ 3 ล้าน 081-8011111
|
พนิตอยากได้ค่านายหน้า จึงไปนำชลิตเพื่อนรักมาซื้อ ตกลงซื้อขายกันกับจำลองเจ้าของที่ดินในราคาไร่ละสองล้านแปดแสนบาท พนิตเรียกค่าบำเหน็จนายหน้าจากจำลองเจ้าของที่ดินได้หรือไม่ จำนวนเท่าใด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 845 วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
มาตรา 846 วรรคแรก ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
วินิจฉัย
ในเรื่องสัญญานายหน้านั้น บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้มอบหมายแก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทำให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันหรือไม่มีการมอบหมายกิจการแก่กัน ก็ไม่จำต้องให้ค่าบำเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับบำเหน็จหรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา 845 หรือมีสัญญาต่อกันโดยปริยายตามมาตรา 846 ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบำเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีสัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่
กรณีตามอุทาหรณ์ พนิตจะเรียกค่าบำเหน็จนายหน้าจากจำลองเจ้าของที่ดินได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำลองได้ติดแผ่นป้ายประกาศขายที่ดินพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ไว้ริมถนนนั้น แสดงว่าจำลองต้องการขายที่ดินด้วยตนเอง เมื่อพนิตเห็นป้ายอยากได้ค่านายหน้า จึงได้ไปนำชลิตมาซื้อที่ดิน กรณีนี้แม้การซื้อขายที่ดินระหว่างจำลองกับชลิตจะเกิดจากการชี้ช่องและจัดการของพนิตจนทำให้สัญญาซื้อขายสำเร็จก็ตาม แต่เมื่อจำลองไม่ได้ตกลงให้พนิตเป็นนายหน้าขายที่ดิน และไม่ได้ตกลงว่าจะจ่ายค่าบำเหน็จให้ตามมาตรา 845 วรรคแรก รวมทั้งไม่ได้มอบหมายให้พนิตกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเลย ดังนั้น พนิตจะเรียกเอาค่าบำเหน็จนายหน้าจากจำลองไม่ได้
สรุป พนิตจะเรียกเอาค่าบำเหน็จนายหน้าจากจำลองเจ้าของที่ดินไม่ได้