การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายเอ ศุภชา ตกลงให้นายเมาริโอ ยืมรถยนต์ BMW คันใหม่เอี่ยมของตนขับไปหานางสาวอั้ม รัชดาแฟนสาวที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา 10 วัน เมื่อครบกําหนด 10 วันแล้ว นายเมาริโอยังอยากใช้เวลา ร่วมกับนางสาวอัม รัชดาต่อไป จึงได้ขับรถคันดังกล่าวพานางสาวอั้ม รัชดาไปเที่ยวต่อที่จังหวัดเชียงราย อีก 5 วัน เมื่อเงินที่นําติดตัวไปเริ่มหมด นายเมาริโอจึงสมัคร grab และนํารถคันนี้ไปรับส่งผู้โดยสาร ในจังหวัดเชียงรายเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ในระหว่างที่นายเมาริโอขับรถรับผู้โดยสารจากท่าอากาศยาน เชียงรายมาส่งยังโรงแรมก็ได้ถูกนางสาวใหม่ ยามวิกาล ขับรถกระบะมาชนรถ BMW ของนายเอ ศุภชา เสียหาย คิดเป็นเงินค่าซ่อม 50,000 บาท โดยเป็นความผิดของนางสาวใหม่ ยามวิกาล
ดังนี้ นายเอ ศุภชา จะเรียกร้องให้นายเมาริโอรับผิดค่าซ่อมแซมรถดังกล่าวได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”
มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”
มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ทานว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญายืมรถยนต์ BMW ระหว่างนายเอ ศุภชา กับนายเมาริโอ เป็นสัญญา ยืมใช้คงรูป และมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 640 และมาตรา 641 โดยมีการกําหนดว่าจะเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ เพื่อการใดและได้กําหนดเวลาส่งคืนไว้ด้วย ซึ่งนายเมาริโอผู้ยืมย่อมมีสิทธิ์ที่จะครอบครองและใช้สอยรถยนต์คัน ดังกล่าวได้ตามสิทธิของผู้ยืม แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืมรวมทั้งจะต้องไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากที่นายเมาริโอยืมรถยนต์ขับไปหานางสาวอั้ม รัชดาแฟนสาว ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา 10 วันแล้ว นายเมาริโอยังได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวพานางสาวอั้ม รัชดาไปเที่ยวต่อ ที่จังหวัดเชียงรายอีก 5 วัน และนอกจากนั้นยังนํารถยนต์คันนี้ไปรับส่งผู้โดยสารในจังหวัดเชียงรายเพื่อหารายได้ เพิ่มเติมอีก กรณีดังกล่าว ถือว่านายเมาริโอผู้ยืมได้นําทรัพย์สินที่ยืมไปใช้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ และยังเอา ทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา จึงเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตาม มาตรา 643 ซึ่งผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินที่ยืมนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด ถึงแม่ว่า จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ดังนั้น เมื่อรถยนต์ที่ยืมถูกนางสาวใหม่ ยามวิกาล ขับรถกระบะมาชนทําให้เสียหาย ดเป็นเงินค่าซ่อม 50,000 บาท นายเอ ศุภชา จึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายเมาริโอรับผิดค่าซ่อมแซมรถดังกล่าวได้ แม้ว่ารถยนต์ที่ยืมจะบุบสลายเพราะความผิดของนางสาวใหม่ ยามวิกาล ก็ตาม
สรุป
นายเอ ศุภชา สามารถเรียกร้องให้นายเมาริโอรับผิดค่าซ่อมแซมรถดังกล่าวได้
ข้อ 2.นายโป้นักเลงข้างถนนได้เสียกับนางกานต์เมียนักร้องชื่อดัง นายโป้ได้บอกนางกานต์ว่าตนมีวิธีหาเงิน โดยการล้มมวย ที่แรกตนจะไปท้านักมวยชื่อดัง เช่น บัวขาว โดยต่อให้บัวขาววิ่งรอบลานพ่อขุน 50 รอบ ก่อนที่จะขึ้นชก หากบัวขาวตกลงก็จะมีคนดูล้นหลาม หากตนชนะก็จะมีเงินเก็บค่าดูได้ หลายล้าน รวมทั้งจะมีการพนันด้วย งานนี้นายโป้ก็จะได้รับเงินจํานวนมาก นางกานต์เห็นด้วย จึงให้ยืมเงิน 60 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่รู้จักกันได้ไม่นาน ดังนั้น นางกานต์จะได้เงินคืนหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”
มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกําหนดให้ใบแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”
มาตรา 653 วรรคหนึ่ง “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
วินิจฉัย
สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอย่างหนึ่ง ดังนั้น สัญญากู้ยืมเงินย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อ ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมคือเงินให้เก่กันแล้ว และถ้าเป็นการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปโดยมีหลักฐาน แห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งและลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญย่อมสามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ (มาตรา 650 และมาตรา 653 วรรคหนึ่ง)
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง ดังนั้นในการทําสัญญากู้ยืมเงินจึงต้อง เป็นไปตามหลักของการทํานิติกรรมสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย เช่น ถ้าการกู้ยืมเงินกันนั้น มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโยกฎหมาย เช่น กู้ยืมเงินเพื่อนําไปเล่นการพนันหรือนําไปค้ายาเสพติด ฯลฯ สัญญากู้ยืมเงินย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ผู้ให้กู้จะฟ้องเรียกเงินกู้คืนไม่ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 707/2487)
นางกรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางกานต์ให้นายโป้กู้ยืมเงิน 60 ล้านบาทนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เป็นการให้กู้ยืมเงินเพื่อนําไปเล่นการพนัน สัญญากู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 เพราะมีวัตถุประสงค์ เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ดังนั้น ไม่ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างนายโป้และนางกานต์จะมีหลักฐานเป็น หนังสือและลงลายมือชื่อผู้กู้ยืมหรือไม่ก็ตาม นางกานต์ก็ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกเงินที่ให้กู้ยืมคืนได้ และถ้านางกานต์ ฟ้องศาล ศาลก็จะไม่รับฟ้องไว้พิจารณาเพราะถือว่านางกานต์ใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ซึ่งบัญญัติว่า “ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชําระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทําโดยสุจริต”
สรุป
นางกานต์จะฟ้องร้องเรียกเงินคืนไม่ได้
ข้อ 3. นายอาทิตย์เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าพักได้วางอาวุธปืนไว้ใต้หมอนบนเตียงนอน และวางนาฬิกาข้อมือหนึ่งเรือนไว้ในห้องน้ำ หลังจากนั้นนายอาทิตย์ออกไปธุระข้างนอก เมื่อกลับเข้ามาที่ห้องจึงพบว่าตนลืมปิดหน้าต่างห้องไว้ อาวุธปืนราคา 30,000 บาท และนาฬิกา ราคา 50,000 บาท ถูกขโมยไป นายอาทิตย์จึงรีบแจ้งนายจันทร์ผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมทราบทันที และขอให้นายจันทร์ชดใช้ราคาทรัพย์ที่สูญหาย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายจันทร์ต้องรับผิดชดใช้ต่อนายอาทิตย์หรือไม่ จํานวนเท่าใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”
มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด
ความรับผิดนี้ ถ้าเกียวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตัวเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง
แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675
แต่อย่างไรก็ตาม หากความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย หรือ เพราะสภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือเพราะความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นหรือบริวารของเขาเอง หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ เจ้าสํานักย่อมไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด (มาตรา 675 วรรคสาม)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ขณะเข้าพัก ได้วางอาวุธปืนไว้ใต้หมอนบนเตียงนอน และวางนาฬิกาข้อมือหนึ่งเรือนไว้ในห้องน้ำ หลังจากนั้นนายอาทิตย์ออกไป ธุระข้างนอก เมื่อกลับเข้ามาจึงพบว่า อาวุธปืนราคา 30,000 บาท และนาฬิการาคา 50,000 บาท ถูกขโมยไป ซึ่งนายอาทิตย์รีบแจ้งนายจันทร์ผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมทราบทันที เมื่ออาวุธปืนและนาฬิกาถือเป็นทรัพย์สินทั่ว ๆ ไป ตามมาตรา 475 วรรคหนึ่ง มิใช่ของมีค่าอื่น ๆ ตามมาตรา 475 วรรคสอง ดังนั้นนายจันทร์ผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรม ยังต้องรับผิดชดใช้เงินต่อนายอาทิตย์เต็มจํานวนคือ 80,000 บาท ตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675 วรรคสอง
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่ทรัพย์สินดังกล่าวถูกขโมยไปนั้น เป็นเพราะ ความผิดของนายอาทิตย์เอง เนื่องจากนายอาทิตย์เปิดหน้าต่างห้องพักทิ้งไว้ โจรจึงเข้ามาขโมยทรัพย์สินไปได้ นั้นจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 675 วรรคสาม ทําให้นายจันทร์เจ้าสํานักโรงแรมไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
สรุป
นายจันทร์ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อนายอาทิตย์