การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ปลาม้ายืมรถมอเตอร์ไซค์ของปลาดาวเพื่อใช้ขับขี่ไปทํางานมีกําหนดหกเดือน ระหว่างนั้นมีชะเมาเพื่อนบ้านมาขอเช่ารถมอเตอร์ไซค์ที่ปลาม้ายืมมาจากปลาดาวเฉพาะตอนเย็นหลังเลิกงานไปใช้ รับจ้างรับคนโดยสารมีกําหนดสามเดือน ระหว่างที่ชะมาใช้งานอยู่นั้นชายไทยไม่ทราบชื่อขับรถปิกอัพ มาชนแล้วหลบหนีไปทําให้รถมอเตอร์ไซค์ที่ปลาม้ายืมมาเสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงินห้าพันบาท ดังนี้ปลาดาวจะเรียกให้ปลาม้าคืนรถและรับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมแซมได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั้นเอง”

มาตรา 645 “ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืน ต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ปลาม้ายืมรถมอเตอร์ไซค์ของปลาดาวเพื่อใช้ขับขี่ไปทํางานมีกําหนด 5 เดือนนั้น เป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 ซึ่งปลาม้าผู้ยืมย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถมอเตอร์ไซค์ ได้ตามสิทธิของผู้ยืมตามกฎหมาย แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม รวมทั้งไมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าปลาม้าได้เอารถมอเตอร์ไซค์ที่ยืมให้ชะเมาเพื่อนบ้านเช่าใช้รับจ้างรับคนโดยสาร ถือว่า เป็นกรณีที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย จึงเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม

ตามมาตรา 643 ซึ่งผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด ถึงแม้ เป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ดังนั้น การที่มีชายไทยไม่ทราบชื่อขับรถปิกอัพมาชนแล้วหลบหนีไป ทําให้รถมอเตอร์ไซค์ ที่ปลาม้ายืมมาเสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงินห้าพันบาท ปลาม้าผู้ยืมจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น

และตามมาตรา 645 กฎหมายได้กําหนดให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และเรียกให้ผู้ยืม คืนทรัพย์สินที่ยืมได้ ถ้าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 เช่น การที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปให้ บุคคลภายนอกใช้สอย เป็นต้น ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ดังกล่าวปลาดาวผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิตามมาตรา 645 คือ บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ปลาม้าคืนรถมอเตอร์ไซค์ได้

สรุป

ปลาดาวสามารถเรียกให้ปลาม้าคืนรถและรับผิดชดใช้ค่าซ่อมแซมได้

 

ข้อ 2 นายเอกให้นายตรีบุตรชายไปหานายโทซึ่งเป็นเพื่อนกันแล้วนายเอกโทรศัพท์หานายโทความว่า “ตอนนี้เดือดร้อนมาก ๆ ป่วยหนักอยากจะขอยืมเงินสักแปดหมื่นบาทไปใช้รักษาตัว และแบ่งให้ ลูกชายลงทุนค้าขายต่อชีวิตกันไป ต้องรบกวนจริง ๆ นะ หวังว่าคงจะได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้” นายโทเอาเงินให้นายตรีแปดหมื่นบาทตามที่นายเอกขอยืม 1 ปีผ่านไป นายเอกหายจากโรคร้าย นายตรีค้าขายขาดทุนไม่มีเงินไปใช้คืนให้กับนายโท นายเอกจึงเขียนจดหมายถึงนายโทความว่า “เงินที่ยืมมานั้นลูกชายค้าขายขาดทุน ปีนี้ไม่มีใช้คืน ขอเป็นปีหน้านะ จะใช้คืนทั้งต้นและดอกด้วย” ลงชื่อเอก อีก 1 ปีผ่านไป นายตรีค้าขายมีกําไรมาก แต่ไม่นําเงินไปใช้คืนให้กับนายโท แม้ว่านายโท มาทวงถามก็ไม่ยอมใช้คืน ดังนี้ นายโทจะอ้างนายตรีเป็นพยานและใช้จดหมายดังกล่าวเป็นหลักฐานประกอบการฟ้องคดีขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินแปดหมื่นบาทได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 วรรคแรก “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบ เงินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมตามมาตรา 650 เพียงแต่ตามมาตรา 653 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้จะต้องมีหลักฐานประกอบการฟ้องร้องบังคับคดี คือ

1 มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ

2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ

สําหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทําเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเท่านั้น เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และมีข้อความปรากฏในเอกสารว่าผู้กู้ยืมเป็นหนี้สินในเรื่องการกู้ยืม – เงินกัน และมีการระบุถึงจํานวนเงินที่กู้ยืมกันโดยชัดแจ้งก็ใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้ แต่ที่สําคัญจะต้องมีการ ลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสําคัญ ส่วนผู้ให้ยืมและพยานจะลงลายมือชื่อในหลักฐานนั้นหรือไม่ ไม่ใช่สาระสําคัญ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกโทรศัพท์ไปหานายโทความว่า “ตอนนี้เดือดร้อนมาก ๆ ป่วยหนักอยากจะขอยืมเงินสักแปดหมื่นบาทไปใช้รักษาตัว และแบ่งให้ลูกชายลงทุนค้าขายต่อชีวิตกันไป ต้องรบกวน จริง ๆ นะ หวังว่าคงจะได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้” นั้น เป็นการเสนอขอยืมเงินจากนายโท เมื่อนายโทเอาเงิน แปดหมื่นบาทมอบให้นายตรีตามที่นายเอกขอยืมถือเป็นการส่งมอบเงินที่ยืมให้กับตัวแทนของผู้ยืมทําให้สัญญา กู้ยืมเงินเกิดขึ้นโดยบริบูรณ์ตามมาตรา 650

การที่นายเอกหายจากโรคร้าย นายตรีค้าขายขาดทุนไม่มีเงินไปใช้คืนให้กับนายโท นายเอก จึงเขียนจดหมายถึงนายโทความว่า “เงินที่ยืมมานั้นลูกชายค้าขายขาดทุน ปีนี้ไม่มีใช้คืน ขอเป็นปีหน้านะ จะใช้คืน ทั้งต้นและดอกด้วย” ลงชื่อ เอก และต่อมาเมื่อนายตรีค้าขายมีกําไรมาก แต่นายเอกก็ไม่ยอมชําระหนี้นั้น ดังนี้ เมื่อนายโทต้องการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินแปดหมื่นบาท โดยนายโทจะใช้จดหมายดังกล่าว เป็นหลักฐานประกอบการฟ้องคดีขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินนายโทนั้น ย่อมทําไม่ได้ เพราะการฟ้องบังคับคดี การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ซึ่งต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือและในหนังสือนั้น จะต้องมีลายมือชื่อ ของผู้ยืมเป็นสําคัญนั้น แม้ข้อความในจดหมายจะแสดงให้เห็นว่านายเอกกู้ยืมเงินนายโทมา และมีการลงลายมือชื่อ ของนายเอกผู้ยืมก็ตาม แต่จดหมายดังกล่าวมิได้ระบุจํานวนเงินที่ยืมกันมาแต่อย่างใด ทําให้ไม่อาจทราบได้ว่า นายเอกเป็นหนี้นายโทจํานวนเท่าใด จดหมายดังกล่าวจึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ตามมาตรา 653 วรรคแรก และการที่นายโทจะอ้างนายตรีเป็นพยานว่ามีการกู้ยืมเงินจํานวนแปดหมื่นบาท ก็จะเป็นการรับฟังพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 ดังนั้น นายโท จึงอ้างนายตรีเป็นพยานไม่ได้

สรุป

นายโทจะอ้างนายตรีเป็นพยานและใช้จดหมายดังกล่าวเป็นหลักฐานประกอบการฟ้องคดี ขอให้ศาลบังคับให้นายเอกคืนเงินแปดหมื่นบาทไม่ได้

 

ข้อ 3 จันดีเดินทางไปทํางานที่บ้านไผ่เข้าพักที่บ้านของฟ้าสวยที่ตกแต่งเป็นห้องพักรับนักท่องเที่ยวเข้าพักคิดค่าห้องรายวัน ๆ ละห้าร้อยบาท โดยจันดีลงทะเบียนเข้าพักสามวัน ตอนค่ำจันดีไปดื่มกาแฟที่ ลานกาแฟบริเวณบ้านที่ฟ้าสวยเปิดร้านขาย ถูกนางสาวสุดแสบคู่แค้นแอบลักเงินไปห้าหมื่นบาท ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าฟ้าสวยต้องรับผิดชอบชดใช้เงินห้าหมื่นบาทให้กับจันดีหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตัวเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพ แห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ ต้อนรับ”

มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลาย ขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้น ท่านว่าเจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ฟ้าสวยตกแต่งบ้านเป็นห้องพักเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าพักโดยคิด ค่าห้องเป็นรายวัน ๆ ละ 500 บาทนั้น บ้านของฟ้าสวยจึงถือได้ว่าเป็นสถานที่อื่นเช่นเดียวกับโรงแรมหรือโฮเต็ล และฟ้าสวยจะมีสถานะเป็นเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่อื่นเช่นว่านั้นตามมาตรา 674 และมาตรา 675 จึงต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ ตามความเสียหาย ที่เกิดขึ้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 675 วรรคสาม และมาตรา 676 ที่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดชอบ

การที่จันดีได้ลงทะเบียนเข้าพักที่บ้านของฟ้าสวยและมีสถานะเป็นคนเดินทางหรือแขกอาศัย ได้นําพาเงินตราติดไปด้วย แต่จันดีมิได้ฝากเงินไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อจันดีถูก นางสาวสุดแสบลักเงินไป 50,000 บาท และเหตุเกิดขึ้นในบริเวณโรงแรม ซึ่งโดยหลักแล้วฟ้าสวยจะต้องรับผิดชอบ เพียง 5,000 บาทตามมาตรา 675 วรรคสอง แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่จันดีทราบว่าเงินของตนถูกลักไป จันดีก็ไม่ได้แจ้งให้ฟ้าสวยเจ้าสํานักทราบทันทีที่หาย ดังนั้น จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 676 ที่ฟ้าสวยไม่ต้อง รับผิดชอบชดใช้เงิน 50,000 บาทให้กับจันดี

สรุป

ฟ้าสวยไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงิน 50,000 บาท ให้กับจันดีแต่อย่างใด

 

 

Advertisement