การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก มอบ ข ให้ซื้อที่ดินโดยมอบหมายเป็นหนังสือ ข ซื้อที่ดินของ ค โดยทำหนังสือซื้อขาย โดยตกลงราคากันเป็นจำนวน 30 ไร่ 20 ล้านบาท จะโอนกันในวันถัดไปจากวันทำสัญญา หลังทำสัญญา ง มาขอซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกับ ค โดยให้ราคามากกว่า 2 เท่า ค ตกลงและโอนทันที กรณีหนึ่ง
อีกกรณีหนึ่ง จากโจทย์เดิมข้างต้น ถ้า ก ตั้ง ข ให้ซื้อที่ดินโดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ ก ได้มอบเงินให้ ข นำไปวางประจำไว้ ข นำเงินไปวางประจำและทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือ ง มาขอซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยให้ราคามากกว่า 2 เท่า ค โอนที่ดินให้ ง ทันที
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ทั้ง 2 กรณี ก จะฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่าง ค กับ ง ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 456 วรรคแรกและวรรคสอง การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้
กรณีแรก
การที่ ก มอบ ข ให้ไปซื้อที่ดินนั้น เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินเป็นกิจการที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ (มาตรา 456 วรรคแรก) ดังนั้น การตั้งตัวแทนเพื่อไปทำสัญญาขายที่ดินจึงต้องทำเป็นหนังสือด้วย จึงจะมีผลผูกพันตัวการตามมาตรา 798 วรรคแรก เมื่อการตั้งตัวแทนของ ก ที่ให้ ข เป็นตัวแทนไปซื้อที่ดินนั้นได้ทำเป็นหนังสือ กิจการที่ ข ได้กระทำไปจึงมีผลผูกพัน ก ตัวการ และก่อให้ได้ความสัมพันธ์ไปถึง ค ด้วย ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ค ผิดสัญญา โดยโอนที่ดินดังกล่าวให้กับ ง ก ย่อมสามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่าง ค กับ ง ได้
กรณีที่สอง
ถ้า ก ตั้ง ข ให้ซื้อที่ดินโดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่ ก ได้มอบเงินให้ ข นำไปวางประจำไว้ และ ข ก็ได้นำเงินไปวางประจำและทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือ ดังนี้ ก ก็ย่อมสามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่าง ค กับ ง ได้เช่นกัน เพราะกรณีที่สองนี้ ถือเป็นเรื่องการทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการตั้งตัวแทนไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 798 ที่จะต้องมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะใช้วิธีวางประจำ หรือชำระหนี้บางส่วนก็ได้ (ตามมาตรา 456 วรรคสอง) ซึ่งก็ถือว่ามีผลผูกพันตัวการดุจกัน
สรุป ทั้ง 2 กรณี ก จะสามารถฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่าง ค กับ ง ได้
ข้อ 2 นางสายใจได้นำทองคำแท่งหนัก 10 บาท ไปฝากนางรัศมีซึ่งเปิดร้านขายทองที่ตลาดบางกะปิ เป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำแท่งให้ตน นางสายใจได้ตกลงกับนางรัศมีว่า ถ้าขายทองคำแท่งได้จะให้ค่าบำเหน็จแก่นางรัศมีเป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ปรากฏว่า วันที่ 5 สิงหาคม 2555 ราคาทองคำตามตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ 22,000 บาท นางรัศมีเห็นว่าราคาทองคำลดลงต่ำกว่าราคาก่อนหน้านี้ ถ้าซื้อเก็บไว้ทองคำอาจจะขึ้นราคาบาทละ 25,000 บาท ถ้าขายก็จะได้กำไร นางรัศมีต้องการซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง จึงได้โทรศัพท์ติดต่อขอซื้อทองคำแท่งจากนางสายใจ เมื่อนางสายใจได้รับคำบอกกล่าวแล้วก็ไม่ได้บอกปัดเสียในทันที ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า การขอซื้อทองคำแท่งของนางรัศมีเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด และนางรัศมีมีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จจำนวน 5,000 บาทหรือไม่ จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 843 ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญาในกรณีเช่นนั้น ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น ณ สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย
เมื่อตัวการรับคำบอกกล่าวเช่นนั้น ถ้าไม่บอกปัดเสียในที ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว
อนึ่งแม้ในกรณีเช่นนั้น ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้
วินิจฉัย
ตามมาตรา 843 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าตัวการมอบหมายให้ตัวแทนค้าต่างขายทรัพย์สินแทนตน และทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่มีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน และไม่มีข้อห้ามโดยชัดแจ้งในสัญญาตัวแทนค้าต่างจะเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้นไว้เสียเองก็ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ตัวแทนค้าต่างจะต้องบอกกล่าวให้ตัวการรู้ด้วยว่าตนเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าตัวการไม่ต้องการขายให้ตัวแทนค้าต่างก็ต้องบอกปัดในทันที ไม่เช่นนั้นจะถือว่าตัวการได้สนองรับคำบอกกล่าวนั้นแล้ว และนอกจากนี้ตัวแทนค้าต่างก็ยังมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามสัญญาอีกด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสายใจได้มอบให้นางรัศมีเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำแท่งของตนและตกลงจะจ่ายค่าบำเหน็จให้จำนวน 5,000 บาท ปรากฏว่าต่อมาราคาทองคำแท่งลดลงตามตลาดโลก ซึ่งถือเป็นรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน นางรัศมีต้องการซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เองเพื่อเก็งกำไรในภายหน้านั้น ดังนี้ นางรัศมีสามารถทำได้ เพราะในสัญญาไม่มีข้อห้ามไว้ตามมาตรา 843 วรรคแรก
และเมื่อนางรัศมีบอกกล่าวทางโทรศัพท์ให้นางสายใจทราบว่าตนจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวแล้ว แต่ปรากฏว่านางสายใจก็มิได้บอกปัดเสียในทันทีที่ได้รับคำบอกกล่าว กรณีนี้จึงถือว่านางสายใจเป็นอันได้สนองรับคำบอกกล่าวนั้นแล้ว สัญญาซื้อขายทองคำแท่งระหว่างนางรัศมีกับนางสายใจจึงเกิดขึ้นตามมาตรา 843 วรรคสอง และนอกจากนี้นางรัศมีก็ยังสามารถคิดเอาค่าบำเหน็จจำนวน 5,000 บาท จากนางสายใจ เนื่องจากการซื้อขายของตนได้ด้วย แม้นางรัศมีจะเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งเหล่านั้นไว้เองก็ตาม ตามมาตรา 843 วรรคท้าย
สรุป สัญญาซื้อขายทองคำแท่งของนางรัศมีได้เกิดขึ้นแล้ว และนางรัศมีมีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จจำนวน 5,000 บาทจากนางสายใจ
ข้อ 3 ทิวามีอาชีพเป็นนายหน้าจัดหาซื้อขายที่ดิน บริษัท ก จำกัด มอบให้ทิวาจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่โดยบริษัทยินยอมเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ดินนั้น ทิวานำผู้แทนบริษัทไปดูที่ดินหลายแปลง รวมทั้งที่ดินของราตรีด้วย ปรากฏว่าบริษัทพอใจที่ดินแปลงของราตรี จนในที่สุดบริษัทได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินของราตรีตามที่ทิวาได้ชี้ช่องและจัดการ เมื่อทิวาเรียกค่าบำเหน็จนายหน้าจากราตรี ราตรีเพิกเฉยทั้งที่ราตรีก็ทราบอยู่ดีว่าทิวามีอาชีพเป็นนายหน้า ทิวาจะบังคับค่าบำเหน็จนายหน้าจากราตรีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 845 วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
มาตรา 846 วรรคแรก ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
วินิจฉัย
ในเรื่องสัญญานายหน้านั้น บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้มอบหมายแก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทำให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันหรือไม่มีการมอบหมายกิจการแก่กัน ก็ไม่จำต้องให้ค่าบำเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับบำเหน็จหรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา 845 หรือมีสัญญาต่อกันโดยปริยายตามมาตรา 846 ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบำเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีสัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่
กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินของนางราตรีจะเกิดจากการชี้ช่องและจัดการของทิวา และราตรีก็ทราบดีอยู่แล้วว่าทิวามีอาชีพเป็นนายหน้าก็ตาม แต่ราตรีก็ไม่เคยตกลงให้ทิวาเป็นนายหน้าขายที่ดินของตนตามมาตรา 845 วรรคแรก อีกทั้งจะถือว่าเป็นการตกลงกันโดยปริยายตามมาตรา 846 วรรคแรกก็มิได้ เพราะการตกลงโดยปริยายตามมาตรานี้ หมายถึง กรณีที่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้ากันแล้ว ไม่ใช่กรณีที่ยังไม่ได้มอบหมายให้เป็นนายหน้า ดังนั้น ทิวาจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าจากราตรี
สรุป ทิวาจะบังคับเอาค่าบำเหน็จนายหน้าจากราตรีไม่ได้