การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 เอมีเรื่องโกรธแค้นที่ถูกหนุ่มมาแย่งหญิงคนรักของตนไป เอจึงชวนบีให้ไปช่วยเอชกต่อยหนุ่มเพื่อเป็นการสั่งสอน วันเกิดเหตุเอและบีพากันไปดักรอ เมื่อหนุ่มเดินผ่านมาทั้งสองคนตรงเข้าชกต่อย ทําร้ายหนุ่ม ในขณะที่ชกต่อยนั้นบีได้เอามีดที่พกติดตัวไปด้วยฟันข้อมือของหนุ่มจนได้รับอันตรายสาหัสโดยที่เอไม่รู้มาก่อนว่าปีได้พกพามีดมาด้วย ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า เอจะมีความผิดต่อร่างกายฐานใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 295 “ผู้ใดทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษ”

มาตรา 297 “ผู้ใดกระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทําร้ายรับ อันตรายสาหัส ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

ความผิดฐานทําร้ายร่างกายตามมาตรา 295 มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้คือ

1 ทําร้าย

2 ผู้อื่น

3 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น

4 โดยเจตนา

ความผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 เป็นเหตุที่ ทําให้ผู้กระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทํานั้น ผู้กระทําไม่จําต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลที่ทําให้ต้องรับโทษหนักขึ้นแต่อย่างใด และในกรณีที่มี ตัวการร่วมกันทําร้ายร่างกายผู้อื่น แม้ผู้ที่เป็นตัวการร่วมกระทําผิดจะไม่มีเจตนาให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือ มิได้เป็นผู้ที่ลงมือกระทําให้เกิดผลขึ้น ผู้ร่วมกระทําผิดทุกคนก็ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นนั้นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เอได้ร่วมกับบีทําร้ายร่างกายหนุ่มโดยเจตนา แม้เอจะชักชวนบีให้ไปช่วยกันชกต่อยทําร้ายหนุ่ม และบีแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้มีดพกฟันข้อมือของหนุ่มจนได้รับ อันตรายสาหัสโดยเอไม่ทราบว่าบีพกอาวุธไปด้วย และเอไม่มีเจตนาให้หนุ่มได้รับอันตรายสาหัส แต่การที่หนุ่มได้รับอันตรายสาหัสก็เป็นผลธรรมดาที่เกิดจากการกระทําผิดฐานทําร้ายร่างกาย เอก็จะต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้น จากการกระทําของบีด้วย ดังนั้นจึงถือได้ว่าเอเป็นตัวการร่วมกันทําร้ายหนุ่มจนเป็นเหตุให้หนุ่มได้รับอันตรายสาหัส เอจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันทําร้ายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 ประกอบมาตรา 83

สรุป

เอมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันทําร้ายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 ประกอบมาตรา 83

 

ข้อ 2 บุคคลอื่นเล่าให้นางทับทิมฟังว่าเห็น น.ส.รัศมีพาผู้ชายมานอนค้างที่บ้านบ่อย ๆ ต่อมานายเอกก็มาสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับนางทับทิม นางทับทิมก็บอกกับนายเอกว่า น.ส.รัศมีพาผู้ชายมานอนค้าง ที่บ้านตามที่ได้ยินบุคคลอื่นเล่าให้ฟัง หลังจากนั้น น.ส.รัศมีจึงดําเนินคดีกับนางทับทิมในข้อหา หมิ่นประมาท นางทับทิมต่อสู้ว่าตนเองไม่ได้กระทําความผิดตามข้อกล่าวหาเพราะที่พูดไปก็พูดตามที่ได้ยินบุคคลอื่นเล่าให้ฟังมาเท่านั้น ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านางทับทิมมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ประกอบด้วย

1 ใส่ความผู้อื่น

2 ต่อบุคคลที่สาม

3 โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

4 โดยเจตนา

คําว่า “ใส่ความ” ตามนัยมาตรา 326 หมายความว่า พูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้าย ให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โดยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งกระทําต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นางทับทิมได้บอกกับนายเอกว่า น.ส.รัศมีพาผู้ชายมานอนค้าง ที่บ้านบ่อย ๆ ตามที่ได้ยินบุคคลอื่นเล่าให้ฟังนั้น คําพูดของนางทับทิมถึงแม้จะเป็นการพูดตามที่บุคคลอื่นเล่าให้ฟังมาก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการใส่ความ น.ส.รัศมีต่อบุคคลที่สามแล้ว และข้อความนั้นก็น่าจะทําให้ น.ส.รัศมีเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ ดังนั้น นางทับทิมจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326

สรุป

นางทับทิมมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326

 

ข้อ 3 นาย ก. เป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ โดยมีจําเลยเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ นายแดงนํารถยนต์มาที่อู่ของนาย ก. เพื่อซ่อมเครื่องยนต์ โดยนายแดงตกลงกับนาย ก. ว่านายแดงจะเป็นผู้ซื้ออะไหล่แท้ มาให้นาย ก. ต่อมาเมื่อนายแดงซื้ออะไหล่แท้มาได้แล้วก็นํามามอบให้นาย ก. ครั้นถึงเวลาซ่อมเครื่องยนต์ จําเลยซึ่งเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ได้จงใจเปลี่ยนเอาอะไหล่แท้ที่นายแดงซื้อมาไปใส่ ให้กับรถยนต์ของนายขาว แล้วนําอะไหล่เทียมมาใส่ให้กับรถยนต์ของนายแดง โดยที่นาย ก. เจ้าของอู่ไม่ทราบเรื่อง ทั้งนี้จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 339 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงซื้ออะไหล่แท้มอบให้นาย ก. เจ้าของอู่ นาย ก. ย่อมเป็น ผู้ครอบครอง เมื่อจําเลยซึ่งเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ได้จงใจเปลี่ยนเอาอะไหล่แท้ที่นายแดงซื้อมาไปใส่ให้กับรถยนต์ ของนายขาว แล้วนําอะไหล่เทียมมาใส่ให้รถยนต์ของนายแดง โดยที่นาย ก. เจ้าของอู่ไม่ทราบเรื่อง การกระทําของจําเลยจึงเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น โดยทุจริตเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ไม่ใช่ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง เพราะจําเลยไม่ได้รับมอบการครอบครองจากผู้ใด

สรุป จําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

 

ข้อ 4 จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 4 ไปที่บ้านของนาย ก. เมื่อไปถึง จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 4 ใช้เท้าเตะไปที่รั้วบ้านของนาย ก. ซึ่งรั้วบ้านของนาย ก. เป็นรั้วสังกะสี นาย ก. ได้ยินเสียงจึงออกมาดู จําเลยที่ 1 พูดกับนาย ก. ขอเงิน 10,000 บาท นาย ก. ตอบว่าไม่มี จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 4 ช่วยกันเตะรั้วจนสังกะสีหลุดออก 3 แผ่น นาย ก. กลัวรั้วจะพัง และกลัวจะถูกทําร้ายจึงยอมให้เงินจําเลยที่ 1 ไป 500 บาท จําเลยที่ 1 รับเงินมาแล้วจึงพูดกับ นาย ก. ว่า “ทีหลังถ้ากูมา อยากได้อะไร ให้ตามใจกูนะ”

ดังนี้ จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 จําเลยที่ 4 มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 340 “ผู้ใดชิงทรัพย์ โดยร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทํา ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามมาตรา 339 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1 ชิงทรัพย์

2 โดยร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป

3 โดยเจตนา

การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น อันจะเป็นความผิด ฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 และถ้าได้ร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ก็จะเป็นความผิดฐาน ปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 นั้น การขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายดังกล่าวอาจจะเป็นการขู่ตรง ๆ ก็ได้ หรืออาจจะ เป็นการใช้ถ้อยคําทํากิริยาหรือทําโดยประการใด ๆ อันเป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจได้ว่าจะได้รับภยันตราย จากการกระทําของผู้ขู่เข็ญก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่จําเลยที่ 1 พูดกับนาย ก. ขอเงิน 10,000 บาท เมื่อนาย ก. ตอบว่า ไม่มี จําเลยที่ 1 กับพวกช่วยกันเตะรั้วจนสังกะสีหลุดออก 3 แผ่น นาย ก. กลัวรั้วจะพังและกลัวถูกทําร้ายจึงยอม ให้เงินจําเลยที่ 1 ไป 500 บาท นั้น จะเห็นได้ว่า การกระทําของจําเลยที่ 1 และพวกเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า เป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย และการที่จําเลยที่ 1 ได้รับเงินแล้วยังพูดขู่เข็ญอีกว่า “ทีหลังถ้ากูมา อยากได้อะไร ให้ตามใจกูนะ” คําพูดขู่เข็ญของจําเลยที่ 1 ดังกล่าวแม้ไม่ใช่ถ้อยคําขู่เข็ญตรง ๆ แต่ก็เข้าใจได้ว่าต่อไปถ้าจําเลยที่ 1 อยากได้อะไรแล้ว นาย ก. ต้องให้ ถ้าไม่ให้จะถูกจําเลยที่ 1 ทําร้าย ดังนั้น การกระทําของจําเลยที่ 1 กับพวกอีกสามคน จึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ (เทียบฎีกาที่ 549/2517)

สรุป

จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 4 มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 340

Advertisement