การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายเสือประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้อื่น วันเกิดเหตุนายเสือใช้เส้นลวดขึงเสาสะพานทั้งสองข้างเวลาประมาณ 20.00 น. นายช้างขับขี่รถจักรยานยนต์มาตามถนนโดยมีนางนกภริยานั่งซ้อนท้าย พอจะผ่านสะพานตัวของนายช้างกระทบกับเส้นลวดทําให้รถล้มลง ศีรษะของนายข้างกระแทกกับราวสะพานจนถึงแก่ความตาย ส่วนนางนกขาข้างซ้ายหักต้องรักษาตัว 35 วัน จึงหาย ดังนี้ ให้ วินิจฉัยว่าการกระทําของนายเสือเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคสอง “กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและใน ขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”
มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่ การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด
ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนด ไว้สําหรับความผิดนั้น”
มาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 ประกอบด้วย
1 ฆ่า
2 ผู้อื่น
3 โดยเจตนา
การกระทําที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 288 นั้น นอกจากจะมีการกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการฆ่าบุคคลอื่นแล้ว ผู้กระทํายังต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในด้วย อาจจะเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็ได้
สําหรับเจตนาเล็งเห็นผล หมายความว่า ผู้กระทําเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ ดังนั้นหากผู้กระทําเล็งเห็นว่าผลนั้นจะเกิดขึ้น แม้ในที่สุดผลจะไม่เกิด ผู้กระทําก็ต้องรับผิดฐานพยายาม
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเสือใช้เส้นลวดขึงเสาสะพานทั้งสองข้าง โดยประสงค์ต่อทรัพย์ ของผู้อื่นนั้น นายเสือย่อมเล็งเห็นได้ว่า หากมีรถจักรยานยนต์แล่นผ่าน อาจทําให้รถพลิกคว่ำและทําให้ผู้ขับขี่ถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่านายเสือมีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยหลักย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 วรรคสอง
และเมื่อปรากฏว่า นายช้างขับขี่รถจักรยานยนต์มาตามถนนดังกล่าว และตัวของนายช้าง กระทบกับเส้นลวดทําให้รถล้มลง ศีรษะของนายช้างกระแทกกับราวสะพานจนถึงแก่ความตาย นายเสือจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 ส่วนกรณีของนางนกซึ่งนั่งซ้อนท้ายมากับนายช้าง เพียงแค่ขาข้างซ้ายหักไม่ถึงแก่ความตาย ถือเป็นกรณีที่นายเสือได้ลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้น ไม่บรรลุผล ดังนั้น นายเสือจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80
สรุป
นายเสือมีความผิดฐานฆ่านายช้างตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 และมีความผิดฐาน พยายามฆ่านางนกตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80
ข้อ 2 นายอาทิตย์ไปพบ ร.ต.อ.สมพรเพื่อขอประกันตัวเพื่อนที่ถูกจับดําเนินคดีในความผิดฐานหนึ่ง ร.ต.อ.สมพรบอกว่ายังให้ประกันตัวไม่ได้เพราะเป็นคดีสําคัญต้องขออนุมัติผู้บังคับบัญชาเหนือชั้นก่อน นายอาทิตย์เกิดความไม่พอใจจึงพูดด้วยเสียงอันดังว่า “ตํารวจ กระจอก เฮงซวย” ซึ่งในขณะที่พูดนั้น มีบุคคลอื่นอยู่ในห้อง 4 – 5 คน ต่อมา ร.ต.อ.สมพรจึงดําเนินคดีกับนายอาทิตย์ในข้อหาหมิ่นประมาท ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายอาทิตย์มีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ประกอบด้วย
1 ใส่ความผู้อื่น
2 ต่อบุคคลที่สาม
- โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
4 โดยเจตนา
คําว่า “ใส่ความ” ตามนัยมาตรา 326 หมายความว่า พูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้าย ให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โดยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งกระทําต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนั้น ข้อความที่เป็นถ้อยคําเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพหรือเหยียดหยามให้ อับอาย หรือข้อความที่ไม่ทําให้บุคคลซึ่งได้ยินเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ยังไม่ถือว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้ายอันถือเป็น การใส่ความตามมาตรานี้
กรณีตามอุทาหรณ์ คําพูดของนายอาทิตย์ที่ว่า “ตํารวจกระจอก เฮงซวย” ถึงแม้จะเป็นการ ใส่ความร.ต.อ.สมพรต่อบุคคลที่สาม แต่ถ้อยคําดังกล่าวเป็นเพียงคําดูหมิ่นเท่านั้นไม่น่าจะทําให้ ร.ต.อ.สมพร เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทําของนายอาทิตย์จึงไม่เป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาทตามมาตรา 326
สรุป
นายอาทิตย์ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ร.ต.อ.สมพร ตามข้อกล่าวหา
ข้อ 3 จําเลยเป็นเจ้าของปั้มน้ำมัน นาย ก. ก็เป็นเจ้าของปั้มน้ำมันแต่คนละปั้ม ปรากฏว่าปั้มน้ำมันของจําเลยขายดีมากจนน้ำมันหมด จําเลยจึงขอยืมน้ำมันจากปั้มน้ำมันของนาย ก. จํานวน 5,000 ลิตร โดย ตกลงกันว่าอีก 7 วันจะนํามาคืน ครั้นเมื่อครบกําหนดจําเลยไม่ยอมคืน ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”
มาตรา 352 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม โดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1 เอาไป
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 โดยเจตนา
4 โดยทุจริต
องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1 ครอบครอง
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม
4 โดยเจตนา
5 โดยทุจริต
กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้น ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยยืมน้ำมันของนาย ก. ไปเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง กรรมสิทธิ์ใน น้ำมันจึงตกเป็นของจําเลยแล้ว ย่อมถือไม่ได้ว่าจําเลยครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นอยู่ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจําเลย ไม่ยอมคืนน้ำมันที่ยืมไปจากนาย ก. การกระทําของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง ขณะเดียวกันจําเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ เนื่องจากจําเลยไม่ได้แย่งการครอบครองน้ำมันไปจาก นาย ก. การกระทําของจําเลยเป็นเพียงผิดสัญญาในทางแพ่งเท่านั้น (เทียบฎีกาที่ 1250/2530)
สรุป
จําเลยไม่ผิดฐานยักยอกทรัพย์ และไม่ผิดฐานลักทรัพย์ แต่เป็นเพียงผิดสัญญาในทางแพ่ง
ข้อ 4 วันเกิดเหตุเด็กชาย ก. นํากระบือไปเลี้ยงที่ทุ่งนา โดยที่ขณะนั้นเด็กชาย ก. ใช้มือจับเชือกจูงกระบือกําลังเดินไปจําเลยถือโอกาสกระชากเชือกเพื่อที่จะให้หลุดจากมือเด็กชาย ก. ปรากฏว่าเชือกไม่หลุด จําเลยจึงเดินเข้าไปแกะเชือกจากมือเด็กจนหลุดจากมือเด็กชาย ก. จากนั้นจําเลยจึงจูงเชือกพากระบือหนีไป ดังนี้จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 339 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้ กําลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ
(5) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1 ลักทรัพย์
2 โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย
3 โดยเจตนา
4 เจตนาพิเศษ เพื่อ
(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ
(5) ให้พ้นจากการจับกุม
กรณีตามอุทาหรณ์
การที่จําเลยแกะเชือกจากมือเด็กชาย ก. จนหลุด และจูงเชือกพากระบือ หนีไปนั้น ถือเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยมีลักษณะเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์แล้ว และ พฤติการณ์ดังกล่าวของจําเลยถือได้ว่าเป็นการใช้กําลังประทุษร้ายโดยมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ดังนั้น เมื่อการกระทําของจําเลยเป็นการกระทําโดยเจตนา จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 จําเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์
สรุป
จําเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339