การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 เอกขับรถบรรทุกมาบนทางหลวงแผ่นดินด้วยความเร็วประมาณ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อแล่นลอดใต้สะพานแห่งหนึ่ง ถูกโทซึ่งซุ่มอยู่บนสะพานเอาก้อนหินโตขนาดกําปั้นของผู้ใหญ่ขว้างมาใส่กระจก หน้ารถด้านคนขับจนแตก รถของเอกเสียหลักเกือบพลิกคว่ำ แต่เอกประคองรถไว้ได้ถูกเศษกระจกบาดที่ใบหน้าเลือดไหล ดังนี้โทจะมีความผิดต่อชีวิตและร่างกายฐานใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคสอง “กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและใน ขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”
มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่ การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด
ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนด ไว้สําหรับความผิดนั้น”
มาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 ประกอบด้วย
1 ฆ่า
2 ผู้อื่น
3 โดยเจตนา
การกระทําที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 288 นั้น นอกจากจะมีการกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการฆ่าบุคคลอื่นแล้ว ผู้กระทํายังต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในด้วย อาจจะเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็ได้
สําหรับเจตนาเล็งเห็นผล หมายความว่า ผู้กระทําเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ ดังนั้นหากผู้กระทําเล็งเห็นว่าผลนั้นจะเกิดขึ้น แม้ในที่สุดผล จะไม่เกิด ผู้กระทําก็ต้องรับผิดฐานพยายาม
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โทซุ่มอยู่บนสะพาน แล้วเอาก้อนหินขนาดเท่ากําปั้นของผู้ใหญ่ ขว้างใส่กระจกหน้ารถด้านคนขับของเอก ซึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วนั้น โทย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะทําให้ก้อนหินถูกคนขับ หรือทําให้รถพลิกคว่ำ อันอาจจะทําให้เอกเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงถือว่าโทมีเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยหลักย่อม เล็งเห็นผลตามมาตรา 59 วรรคสอง
และเมื่อปรากฏว่าโทได้ลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล คือ เอกเพียงแต่ถูกเศษกระจกบาดที่ใบหน้าเลือดไหลเท่านั้นไม่ถึงแก่ความตาย ดังนั้น โทจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า ตามมาตรา 288 ประกอบกับมาตรา 80
สรุป
โทมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80
ข้อ 2 นางน้อยกู้ยืมเงินจากนายเล็ก 30,000 บาท โดยมีหลักฐานการกู้ยืมตามกฎหมาย เมื่อหนี้ถึงกําหนดนางน้อยผิดนัดชําระหนี้และเมื่อนายเล็กมาทวงถามนางน้อยก็พูดท้าทายให้นายเล็กไปฟ้องร้องเอา วันเกิดเหตุนายเล็กได้จับตัวนางน้อยไปกักขังในสถานที่แห่งหนึ่งแล้วขู่เข็ญให้นายใหญ่สามีของนางน้อยนําเงินไปใช้ชําระหนี้ตามจํานวนที่กู้ยืม โดยขู่ว่าถ้าไม่ได้รับเงินจะไม่รับรองความปลอดภัยของนางน้อย นายใหญ่ได้ไปแจ้งความและพาเจ้าพนักงานตํารวจไปช่วยพาตัวนางน้อยออกมาได้ โดยยังไม่ได้ให้เงินแก่นายเล็กแต่อย่างใด ต่อมานายเล็กถูกดําเนินคดีในข้อหาเอาตัวคนไปหน่วงเหนียว กักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านายเล็กจะมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 “ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป
(2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังประทุษร้าย ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หรือ
(3) หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังบุคคลใด ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตาม มาตรา 313 วรรคแรก (3) ประกอบด้วย
1 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใด
2 โดยเจตนา
3 เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
“ค่าไถ่” หมายความว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอา หรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพ ของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนียวหรือผู้ถูกกักขัง (ป.อ. มาตรา 1(13)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเล็กจับตัวนางน้อยไปกักขังไว้ในสถานที่แห่งหนึ่ง แล้วขู่เข็ญให้ นายใหญ่สามีของนางน้อยนําเงินไปชําระหนี้ตามจํานวนที่กู้ยืมนั้น ถือเป็นการเจตนาเอาตัวบุคคลไปเพื่อหน่วงเหนี่ยว กักขัง
แต่อย่างไรก็ตามการกระทําของนายเล็กก็มิได้มีเจตนาเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เพราะเงินที่นายเล็กเรียก เอาเป็นเงินตามจํานวนหนี้ที่นางน้อยกู้ยืมซึ่งนายเล็กมีสิทธิจะได้เงินดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นค่าไถ่ตามกฎหมาย ดังนั้น การกระทําของนายเล็กจึงไม่เป็นความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313 นายเล็กจึงไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา
สรุป นายเล็กไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา
ข้อ 3 หนึ่งขอยืมสร้อยข้อมือของสองไปใส่แต่ด้วยความไม่ระมัดระวังหนึ่งทําสร้อยข้อมือที่ยืมมาตกหายหนึ่งไม่กล้าบอกความจริงต่อสอง จึงหลอกสองว่ามีขโมยเข้ามาในบ้านลักเอาสร้อยของสองไป ดังนี้ หนึ่งจะมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิด ข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้อง ระวางโทษ”
มาตรา 352 วรรคแรก “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบด้วย
1 หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
(ก) แสดงข้อความเป็นเท็จ หรือ
(ข) ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2 โดยการหลอกลวงนั้น
(ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
(ข) ทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ
3 โดยเจตนา
4 โดยทุจริต
องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 ครอบครอง
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม
4 โดยเจตนา
5 โดยทุจริต
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งขอยืมสร้อยข้อมือของสองไปใส่ และได้ทําสร้อยข้อมือที่ยืมมา ตกหาย แต่หนึ่งไม่กล้าบอกความจริงต่อสอง จึงหลอกสองว่ามีขโมยเข้ามาในบ้านลักเอาสร้อยของสองไปนั้น การ กระทําของหนึ่งไม่ถือเป็นการยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 วรรคแรก เพราะถึงแม้ว่าหนึ่งจะครอบครองทรัพย์ ของผู้อื่น แต่หนึ่งก็มิได้ทุจริตเบียดบังทรัพย์เป็นของตนแต่อย่างใด หนึ่งเพียงทําทรัพย์ตกหายเท่านั้น
อีกทั้งการกระทําของหนึ่งก็ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 เพราะแม้ว่าหนึ่งจะ หลอกลวงสองด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ แต่การหลอกลวงนั้นก็มิได้ทําให้หนึ่งได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากสอง ผู้ถูกหลอกแต่อย่างใด ดังนั้น หนึ่งจึงไม่มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
สรุป หนึ่งไม่มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
ข้อ 4 แดงเป็นนายจ้างของขาวซึ่งเป็นลูกจ้างทํางานในไร่ข้าวโพดของแดง ขาวเป็นคนขยันทํางานแต่มีนิสัยชอบเล่นการพนันฟุตบอล และจะเสียเงินจากการเล่นการพนันเสมอ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นว่า ก่อนวันตรุษจีนแดงอนุญาตให้ขาวหยุดงานได้ 3 วัน และแดงอนุญาตให้ขาวยืมรถปิกอัพขับไป เยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัดได้ เมื่อขาวนํารถยนต์ของแดงไปใช้แล้ว ครั้นครบกําหนดเวลาที่ขาวจะกลับมา ทํางานให้แดง ขาวไม่กลับมาทํางาน และนํารถยนต์คันนี้ไปจํานําในราคา 200,000 บาท และได้ นําเงินไปใช้เล่นการพนัน ดังนี้ แดงจะดําเนินคดีอาญากับขาวในความผิดอาญาฐานใด จงวินิจฉัย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 352 วรรคแรก “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของ รวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานยักยอก ต้อง ระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 ครอบครอง
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม
4 โดยเจตนา
5 โดยทุจริต
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นนายจ้างของขาว และแดงอนุญาตให้ขาวยืมรถปิกอัพขับไป เยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัดนั้น ขาวย่อมเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น มิได้ยึดถือไว้แทนแดงในฐานะลูกจ้างแต่ อย่างใด
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขาวไม่กลับมาทํางาน และนํารถยนต์คันนี้ไปจํานํา โดยนําเงินที่ได้ ไปใช้เล่นการพนัน จึงเป็นการกระทําโดยทุจริตเบียดบังทรัพย์ของแดง เพราะถือเป็นการกระทําในลักษณะที่ เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์นั้นจากเจ้าของโดยเด็ดขาดแล้ว เนื่องจากขาวมิได้มีเจตนาจะนําเงินไปไถ่คืนเพื่อ นํารถยนต์มาคืนแดงในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น ขาวจึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 วรรคแรก
สรุป
แดงจะดําเนินคดีอาญากับขาวได้ในความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 วรรคแรก