การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
ข้อ 1 ก มอบ ข ให้ช่วยเก็บค่าเช่าบ้าน อีกทั้งยังมอบหมายให้ทำสัญญาเช่าได้ด้วย ต่อมาภายหลัง ก ตายลง ทำให้สัญญาระหว่าง ก กับ ข ระงับสิ้นไป ให้ท่านวินิจฉัยว่า กรณีต่อไปนี้ ข จะมีอำนาจทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
1) เก็บค่าเช่า
2) ทำสัญญาเช่า
และถ้าไม่ทำผลจะเป็นเช่นไร กรณีที่ 1 กรณีที่ 2 ถ้าทำผลจะเป็นเช่นไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 812 ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆเพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด
มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ
มาตรา 828 เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตายก็ดี ตัวการตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือล้มละลายก็ดี ท่านว่าตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อันเขาได้มอบหมายแก่ตนไป จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้นๆได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก ตั้ง ข เป็นตัวแทนให้ช่วยเก็บค่าเช่าบ้านและให้อำนาจทำสัญญาเช่าได้ด้วย เมื่อต่อมาภายหลัง ก ตายลงทำให้สัญญาระหว่าง ก กับ ข ระงับสิ้นไปนั้น กรณีการเก็บค่าเช่าและการทำสัญญาเช่า ข จะมีอำนาจทำได้หรือไม่ และถ้าไม่ทำหรือถ้าทำผลจะเป็นเช่นไรนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้
1) การเก็บค่าเช่า แม้ว่า ก ตัวการตาย ทำให้สัญญาตัวแทนระงับไป แต่ตามมาตรา 828 ได้กำหนดให้ตัวแทนต้องจัดการหรือทำหน้าที่ของตัวแทนไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็น เพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการ ดังนั้น ข จึงสามารถเก็บค่าเช่าได้ ถ้าหาก ข ไม่เก็บค่าเช่า ถือว่า ข ไม่ทำหน้าที่ของการเป็นตัวแทนตามมาตรา 828 และถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ข ตัวแทนจะต้องรับผิดชอบตามมาตรา 812
2) การทำสัญญาเช่า เมื่อ ก ตายลง ข ย่อมไม่มีอำนาจทำได้ เพราะสัญญาตัวแทนระงับแล้ว อีกทั้งสัญญาเช่าเป็นบุคคลสิทธิ เป็นสิทธิส่วนบุคคล เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ย่อมทำให้สัญญาระงับ ถ้าหาก ข ฝ่าฝืนทำสัญญาเช่า ถือว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจและย่อมไม่ผูกพันผู้เป็นตัวการ ตามมาตรา 823 และไม่ถือว่าเป็นการจัดการเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการ ตามมาตรา 828 ซึ่งมีผลทำให้ตัวแทนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง ตามมาตรา 823 วรรคสอง
สรุป
1) การเก็บค่าเช่า ข มีอำนาจทำได้ ถ้าไม่ทำและเกิดความเสียหายขึ้น ข จะต้องรับผิดชอบตามมาตรา 828 ประกอบมาตรา 812
2) การทำสัญญาเช่า ข ไม่มีอำนาจทำได้ ถ้าทำ ข จะมีความผิดตามมาตรา 828 ประกอบมาตรา 823
ข้อ 2 นายหนึ่งเปิดร้านขายรถยนต์ใช้แล้วอยู่แถวถนนบางกะปิ นายสองได้นำรถยนต์ของตนไปฝากนายหนึ่งขายหนึ่งคันในราคา 3 แสนบาท โดยตกลงกันว่าถ้าขายได้จะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหนึ่งจำนวนหนึ่งหมื่นบาท และในขณะเดียวกันก็ให้นายหนึ่งซื้อรถยนต์ใช้แล้วให้ตนใหม่หนึ่งคันในราคาไม่เกิน 4 แสนบาท โดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหนึ่ง 1 หมื่นบาท นายหนึ่งได้นำรถยนต์ของนายสองไปขายเชื่อให้แก่นายสามและได้ไปซื้อรถยนต์คันใหม่จากนายสี่ให้แก่นายสอง ซึ่งนายหนึ่งยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่นายสี่ ดังนี้อยากทราบว่า
(ก) ถ้าหนี้ถึงกำหนด นายสามไม่นำเงินมาชำระ นายหนึ่งหรือนายสองจะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่ารถยนต์จากนายสาม เพราะเหตุใด
(ข) ถ้าหนี้ถึงกำหนด นายหนึ่งไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายสี่ นายสี่จะฟ้องนายหนึ่งหรือนายสองให้ชำระหนี้แก่ตน เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 833 อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อ หรือขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ
มาตรา 837 ในการที่ตัวแทนค้าต่างทำการขายหรือซื้อหรือจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นต่างตัวการนั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 837 ได้บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนค้าต่างต่อบุคคลภายนอกไว้ว่า เมื่อตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายหรือซื้อ หรือจัดทำกิจการอย่างใดแทนตัวการแล้ว ตัวแทนค้าต่างย่อมต้องผูกพันเป็นคู่สัญญากับบุคคลภายนอกโดยตรง ถ้าบุคคลภายนอกผิดสัญญา ตัวแทนค้าต่างย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องตามสัญญานั้นในนามของตนเองได้ และในขณะเดียวกัน ก็ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกตามสัญญานั้นด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสองได้นำรถยนต์ของตนไปฝากนายหนึ่งขาย 1 คัน และให้นายหนึ่งซื้อรถยนต์ใช้แล้วให้ตนใหม่ 1 คัน โดยตกลงจะให้บำเหน็จแก่นายหนึ่ง ซึ่งนายหนึ่งเปิดร้านขายรถยนต์ใช้แล้วอยู่แถวถนนบางกะปินั้น ย่อมถือว่านายหนึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างของนายสองตามมาตรา 833 ดังนี้
(ก) จากข้อเท็จจริง เมื่อนายหนึ่งได้นำรถยนต์ของนายสองไปขายเชื่อให้แก่นายสาม และถ้าหนี้ถึงกำหนด นายสามผิดสัญญาไม่นำเงินมาชำระค่ารถยนต์ นายหนึ่งผู้เป็นตัวแทนค้าต่างในฐานะคู่สัญญา ย่อมเป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่ารถยนต์จากนายสาม เพราะนายหนึ่งได้ทำสัญญาขายเชื่อรถยนต์ให้แก่นายสาม ในนามของตนเอง จึงมีสิทธิต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการค้าขายรถยนต์นั้น ตามมาตรา 837
(ข) จากข้อเท็จจริง เมื่อนายหนึ่งได้ไปซื้อรถยนต์คันใหม่จากนายสี่ และถ้าหนี้ถึงกำหนด นายหนึ่งผิดสัญญาไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายสี่ นายสี่จะต้องฟ้องนายหนึ่งผู้เป็นตัวแทนค้าต่างในฐานะคู่สัญญาให้ชำระหนี้แก่ตน เพราะนายหนึ่งทำการซื้อรถยนต์กับนายสี่ในนามของตนเอง จึงต้องผูกพันต่อคู่สัญญาคือนายสี่ด้วยตามมาตรา 837 นายสี่จะไปฟ้องเอากับนายสองตัวการมิได้ เพราะนายสองมิใช่คู่สัญญา
สรุป
(ก) นายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่ารถยนต์จากนายสาม
(ข) นายสี่จะต้องฟ้องนายหนึ่งผู้เป็นตัวแทนค้าต่างให้ชำระหนี้แก่ตน
ข้อ 3 ก มอบให้ ข เป็นนายหน้าขายที่ดินของตนในราคาสามล้านบาทโดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละสาม ข นำ ค มาทำสัญญาจะซื้อขายกับ ก ในราคาดังกล่าว แล้วต่อมา ค ผิดนัดไม่ทำการซื้อขายภายในกำหนด ก ขอให้ศาลบังคับตามสัญญาจะซื้อขายและเรียกค่าเสียหาย ก กับ ค ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเกี่ยวกับที่ดินพิพาทว่า ก ยอมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้ ค หรือบุคคลอื่นที่ ค ประสงค์ให้เป็นผู้รับโอนก็ได้ โดย ค จะชำระราคาที่ดินตามที่ตกลงกันไว้พร้อมทั้งดอกเบี้ย
ต่อมา ค ได้ชำระค่าที่ดินสามล้านบาท และดอกเบี้ยอีกแปดหมื่นบาทให้กับ ก และให้ ก โอนที่ดินให้ ง เพราะตนได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวต่อให้ ง ในราคาสี่ล้านบาท
อยากทราบว่า ข จะเรียกค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละสามจาก ก ได้หรือไม่ จากจำนวนใด เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 845 วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
วินิจฉัย
จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคแรก จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทำสัญญากับบุคคลภายนอก และนายหน้ารับกระทำการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทำสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมจะได้รับค่าบำเหน็จ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก มอบให้ ข เป็นนายหน้าขายที่ดินของตนในราคาสามล้านบาท โดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละสาม และ ข ได้นำ ค มาทำสัญญาจะซื้อขายกับ ก ในราคาดังกล่าวแล้ว ดังนี้ย่อมถือว่า ข ได้ทำหน้าที่ของตนในฐานะนายหน้าครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมา ค จะผิดนัดไม่ทำการซื้อขายภายในกำหนดก็ตาม ข ย่อมมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าตามมาตรา 845 วรรคแรก
สำหรับค่าบำเหน็จนายหน้าที่ ข จะได้รับคือร้อยละสามจากจำนวนสามล้านบาท ซึ่งเป็นราคาตามสัญญาจะซื้อขายที่เกิดจากการชี้ช่องหรือจัดการของ ข นายหน้า ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล แม้จะเป็นผลจากสัญญาจะซื้อขายก็ตาม แต่การที่ตัวการคือ ค ขายสิทธิที่มีอยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าวต่อให้แก่ ง ในราคาสี่ล้านบาทนั้น ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการชี้ช่องหรือจัดการของ ข นายหน้า
สรุป ข เรียกค่าบำเหน็จนายหน้าได้ร้อยละสามจากจำนวนเงินสามล้านบาท