การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. หนึ่งขับขี่รถยนต์มาด้วยความเร็วและขณะที่กําลังขับขึ้นสะพานก็มิได้ชะลอความเร็วลง ขณะเดียวกับที่สองได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศรข้ามสะพานลงมาอย่างเร็วเช่นกัน ทําให้ชนกับรถของหนึ่งอย่างแรง สองถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ หนึ่งถูกดําเนินคดีในข้อหากระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลว่า จุดที่เกิดเหตุเป็นเชิงสะพาน หนึ่งไม่สามารถมองเห็นรถของสอง และแม้ว่าหนึ่งจะขับรถอย่างระมัดระวังโดยลดความเร็วลง ถึงอย่างไรรถของหนึ่งก็ต้องชนกับสองอยู่ดี

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า หนึ่งจะมีความผิดต่อชีวิตอย่างไรหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคสี่ “กระทําโดยประมาท ได้แก่ กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทํา โดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 291 “ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้อง ระวางโทษ”

วินิจฉัย องค์ประกอบความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 ประกอบด้วย

1 กระทําด้วยประการใด ๆ

2 การกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

3 โดยประมาท

ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 นั้น จะต้องเป็นการกระทํา ที่ผู้กระทําได้กระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ และการกระทํานั้นทําให้เกิดผลคือเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ ความตาย ตามหลักที่ว่า “ถ้าไม่มีการกระทํา (โดยประมาท) ผลจะไม่เกิด” แต่ถ้าผลที่เกิดขึ้นนั้น แม้ไม่มีการกระทําของบุคคลนั้น ผลก็ยังคงเกิดขึ้นเช่นกัน ดังนี้จะถือว่าผลเกิดจากการกระทําของเขาไม่ได้ ตามหลักที่ว่า “แม้ไม่มี การกระทํา ผลก็ยังเกิด”

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งขับขี่รถยนต์มาด้วยความเร็วและขณะที่กําลังขับขึ้นสะพานก็มิได้ ชะลอความเร็วลง ทําให้ชนกับรถจักรยานยนต์ของสองที่ได้ขับขี่ย้อนศรข้ามสะพานลงมาอย่างเร็วเช่นกัน เป็นเหตุให้สองถึงแก่ความตายนั้น หนึ่งจะมีความผิดต่อชีวิตฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม มาตรา 291 หรือไม่นั้น

เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่รถยนต์ของหนึ่งชนกับรถจักรยานยนต์ของสองและเป็นเหตุให้สองถึงแก่ความตายนั้น ความตายของสองไม่ได้เกิดจากการขับรถยนต์โดยประมาทของหนึ่งโดยตรง เพราะแม้หนึ่งจะขับรถยนต์โดยประมาทแต่การที่สองขับขี่รถจักรยานยนต์ย้อนศรลงมาอย่างเร็วเช่นนี้ หากหนึ่ง ไม่ประมาทขับรถด้วยความเร็วปกติก็ไม่สามารถหยุดรถได้ทันรถของหนึ่งก็ต้องชนกับรถของสองอยู่ดี ซึ่งเป็นไปตาม หลักที่ว่า “แม้ไม่มีการกระทํา (โดยประมาทของหนึ่ง) ผลก็ยังเกิด” กล่าวคือ จะถือว่าการที่สองถึงแก่ความตาย

เป็นผลที่เกิดจากการกระทําโดยประมาทของหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น หนึ่งจึงไม่มีความผิดต่อชีวิตฐานประมาทเป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

สรุป

หนึ่งไม่มีความผิดต่อชีวิตฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 

ข้อ 2 นางเดือนรับ น.ส.หน่อยเป็นสาวใช้ทํางานบ้าน น.ส.หน่อยคบหาชอบพออยู่กับนายเอก แต่นางเดือนกีดกันไม่ให้ น.ส.หน่อยพานายเอกเข้าไปในบ้าน น.ส.หน่อยรู้ว่านางเดือนเป็นเจ้ามือขายหวยใต้ดิน จึงบอกเรื่องราวของนางเดือนให้นายเอกฟัง วันหนึ่งนายเอกได้ขู่เข็ญนางเดือนให้ยอมให้ตนเข้าไปหา น.ส.หน่อยในบ้านโดยห้ามไม่ให้กีดกันไม่เช่นนั้นนายเอกจะไปบอกตํารวจว่านางเดือนเป็นเจ้ามือขายหวย นางเดือนกลัวว่านายเอกจะนําเรื่องไปบอกตํารวจ จึงยอมให้นายเอกเข้าบ้านโดยไม่ได้กีดกันแต่อย่างใด ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าการกระทําของนายเอกจะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 309 วรรคแรก “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทําให้เสื่อมเสียเสรีภาพตามมาตรา 309 ประกอบด้วย

1 ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด

2 โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้าย

3 จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น

4 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้ขู่เข็ญนางเดือนให้ยอมให้ตนเข้าไปหา น.ส.หน่อยในบ้าน โดยห้ามไม่ให้กีดกันไม่เช่นนั้นนายเอกจะไปบอกตํารวจว่านางเดือนเป็นเจ้ามีอขายหวยใต้ดิน จนทําให้นางเดือนกลัว และยอมให้นายเอกเข้าไปในบ้านโดยไม่ได้กีดกันนั้น การกระทําของนายเอกถือว่าเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทํา การใด ๆ ไม่กระทําการใดหรือจํายอมต่อสิ่งใด และนางเดือนก็ได้จํายอมตามที่ถูกนายเอกข่มขืนใจหรือยู่เข็ญแล้ว อีกทั้งการกระทําของนายเอกก็เป็นการกระทําโดยเจตนา นายเอกจึงมีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานข่มขืนใจผู้อื่น ตามมาตรา 309 วรรคแรก

สรุป

การกระทําของนายเอกเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามมาตรา 309 วรรคแรก

 

ข้อ 3 จําเลยไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง จําเลยเอาสุราต่างประเทศจํานวน 12 ขวด ราคา 3,200 บาท ของผู้เสียหายใส่ไว้ในลังน้ำปลา และใช้สก็อตเทปปิดไว้ไม่ให้เห็นสินค้าในลัง จากนั้น จําเลยนําน้ำปลาอีก 1 ลัง วางทับลังดังกล่าว แล้วนําไปชําระเงินกับพนักงานแคชเชียร์ของผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าน้ำปลาลังละ 210 บาท 2 ลัง คิดเป็นเงิน 420 บาท ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยเอาสุราต่างประเทศใส่ไว้ในลังน้ำปลาแล้วใช้สก็อตเทปปิดบังไว้ โดยนําลังน้ำปลาอีกใบหนึ่งมาวางทับ จากนั้นจึงนําไปชําระเงินนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าจําเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของห้างฯ ผู้เสียหายไปตั้งแต่แรกแล้ว และการที่จําเลยนําลังน้ำปลาซึ่งมีสุราต่างประเทศซุกซ่อนอยู่ภายใน ไปชําระราคาเท่ากับน้ำปลา จนพนักงานแคชเชียร์มอบลังน้ำปลาทั้งสองลังให้แก่จําเลยไป เป็นเพียงกลอุบายของจําเลยเพื่อให้บรรลุผลคือการเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น พนักงานแคชเชียร์ซึ่งเป็น ตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จําเลย การกระทําของจําเลยจึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ดังนั้นจําเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ (ฎีกาที่ 3935/2553)

สรุป

การกระทําของจําเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

 

ข้อ 4 วันเกิดเหตุจําเลยไปที่บ้านของนาย ก. จําเลยขู่เข็ญนาย ก. ให้นาย ก. ส่งเงินให้แก่จําเลยจํานวน 100,000 บาท โดยจําเลยพูดว่าถ้านาย ก. ไม่ให้ จําเลยจะใช้อาวุธปืนยิงนาย ก. ให้ตายในขณะนั้น ปรากฏว่านาย ก. เกิดความกลัวจึงส่งเงินให้แก่จําเลย ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่

เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 339 วรรคแรก “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้ กําลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 วรรคแรก ประกอบด้วย

1 ลักทรัพย์

2 โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย

3 โดยเจตนา

4 เจตนาพิเศษ เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยขู่เข็ญนาย ก. ให้นาย ก. ส่งเงินให้แก่จําเลยจํานวน 100,000 บาท โดยจําเลยพูดว่า ถ้านาย ก. ไม่ให้ จําเลยจะใช้อาวุธปืนยิงนาย ก. ให้ตายในขณะนั้น ทําให้นาย ก. เกิดความกลัว จึงส่งเงินให้แก่จําเลยนั้น การกระทําของจําเลยถือว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย โดยมี เจตนาพิเศษคือเพื่อให้นาย ก. ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น และเมื่อการกระทําของจําเลยเป็นการกระทําโดยเจตนา จึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ดังนั้นจําเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์

สรุป

จําเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339

 

Advertisement