การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 บุญยอดว่าจ้างบรรจงให้เข้าทํางานเป็นลูกจ้างในบ้าน บรรจงเกิดความโลภแอบเอายานอนหลับให้บุญยอดกิน เมื่อบุญยอดนอนหลับไม่รู้สึกตัวด้วยฤทธิ์ยา บรรจงได้ลักเอาทรัพย์สินมีค่าของบุญยอด แล้วหลบหนีออกจากบ้านไป ปล่อยให้บุญยอดนอนหมดสติเพียงลําพัง ปรากฏว่ามีคนจุดไฟเผา ทุ่งหญ้าหลังบ้าน ไฟได้ลุกลามมาจนไหม้บ้าน ทําให้บุญยอดซึ่งนอนหมดสติไม่สามารถลุกหนีไฟ ได้ทัน จึงถูกไฟคลอกตาย ดังนี้ บรรจงจะมีความผิดต่อชีวิตและร่างกายฐานใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 295 “ผู้ใดทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้น กระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบของความผิดฐานทําร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ประกอบด้วย
1 ทําร้าย
2 ผู้อื่น
3 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น
4 โดยเจตนา
การทําร้ายผู้อื่น หมายถึง การกระทําใด ๆ ต่อร่างกายหรือจิตใจของบุคคลอื่นจนเป็นเหตุให้ เกิดอันตรายแก่ผู้ถูกกระทํา ไม่ว่าจะได้กระทําต่อเนื้อตัวหรือร่างกายของบุคคลอื่นโดยตรง หรือกระทําโดยวิธีอื่น เช่น ทําให้เขาตกใจจนสลบ หรือเอายาพิษหรือยานอนหลับให้บุคคลอื่นกินจนทําให้ผู้ถูกกระทํามีอาการสติฟั่นเฟือน หรือหมดสติเป็นเวลานาน ก็ถือว่าเป็นการทําร้ายผู้อื่นแล้ว
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บรรจงเอายานอนหลับให้บุญยอดกินโดยมีเจตนาให้บุญยอดหมดสติ ไม่รู้สึกตัวเพื่อจะลักเอาทรัพย์สินของบุญยอดจนทําให้บุญยอดหมดสติไม่รู้สึกตัวด้วยฤทธิ์ยานอนหลับนั้น ถือว่า บรรจงได้ลงมือทําร้ายบุญยอดแล้ว และเมื่อบุญยอดได้รับอันตรายแก่จิตใจ การกระทําของบรรจงจึงครบองค์ประกอบ ความผิดฐานทําร้ายร่างกาย ดังนั้นบรรจงจึงมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายตาม ป.อาญา มาตรา 295
ส่วนการตายของบุญยอดนั้น มิได้เกิดขึ้นเนื่องจากการกระทําของบรรจง เพราะการที่ไฟไหม้บ้าน จนเป็นเหตุทําให้บุญยอดซึ่งนอนหมดสติไม่สามารถลุกหนีไฟได้ทันจึงถูกไฟคลอกตายนั้น ถือว่าเป็นเหตุแทรกแซง ที่เกิดขึ้นในภายหลังและเป็นเหตุที่บรรจงไม่อาจคาดหมายได้ จึงตัดความสัมพันธ์ระหว่างการทําร้ายกับผลคือ ความตาย ดังนั้นบรรจงจึงไม่ต้องรับผิดในความตายของบุญยอด
สรุป
บรรจงมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายตาม ป.อาญา มาตรา 295
ข้อ 2 สุดสวยเป็นลูกจ้างร้านอาหารทําหน้าที่พนักงานเสิร์ฟ สมยศพาเพื่อนมาเลี้ยงชําระค่าอาหาร 2,300 บาท โดยชําระเป็นธนบัตรใบละ 1,000 บาท จํานวน 3 ฉบับ สุดสวยรับเงินไปส่งให้สมรพนักงานเก็บเงิน ที่นั่งเก็บเงินที่เคาน์เตอร์ สมรทอนเงินเกินโดยส่งเงินทอนให้สุดสวยไปทอนลูกค้า 800 บาท สุดสวยเห็นก็ไม่ทักท้วง แต่กลับแอบเก็บเงินทอนที่เกิน 100 บาท เอาไว้เป็นของตน ดังนี้ สุดสวย จะมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1 เอาไป
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 โดยเจตนา
4 โดยทุจริต
กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั้นเอง ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้นไป ได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตามมาตรา 352 วรรคแรก)
กรณีตามอุทาหรณ์ สุดสวยเป็นลูกจ้างของร้านอาหาร ดังนั้น เงินทอนที่สุดสวยจะเอาไปทอนลูกค้า จึงเป็นเงินของนายจ้างและการครอบครองยังอยู่กับนายจ้าง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าสุดสวยแอบเอาเงินทอนที่เกินไป เป็นของตน จึงเป็นการแย่งการครอบครองจากผู้อื่น และเมื่อเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนาและโดยทุจริต สุดสวยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
สรุป
สุดสวยจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
ข้อ 3 นายเสือจับตัวนางเดือนไปเรียกค่าไถ่ โดยล่ามโซ่ข้อเท้าของนางเดือนไว้กับเสาบ้าน แล้วโทรศัพท์เรียกเอาค่าไถ่จากสามีของนางเดือน นายเสือยังไม่ได้ค่าไถก็ถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับขณะเข้าไปในตลาดเพื่อซื้ออาหาร นายเสือจึงพาเจ้าพนักงานตํารวจไปปล่อยตัวนางเดือน โดยนางเดือนไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด ดังนี้ให้วินิจฉัยในความผิดที่เกี่ยวกับเสรีภาพฐานเรียกค่าไถ่ว่า นายเสือจะมีความผิดและได้รับโทษอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 313 วรรคแรก “ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
(3) หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด ต้องระวางโทษ ”
มาตรา 316 “ถ้าผู้กระทําความผิดตามมาตรา 313 มาตรา 314 หรือมาตรา 315 จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัส หรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ให้ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามมาตรา 313 วรรคแรก (3) ประกอบด้วย
1 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใด
2 โดยเจตนา
3 เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเสือจับตัวนางเดือนไปเรียกค่าไถ่ โดยล่ามโซ่ข้อเท้าของนางเดือน ไว้กับเสาบ้าน และได้กระทําโดยเจตนานั้น ถึงแม้จะยังไม่ได้ค่าไถ่เนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมตัวได้ก่อน แต่เมื่อการกระทําของนายเสือครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมเป็นความผิดสําเร็จตามมาตรา 313 วรรคแรก (3)
ส่วนการที่นายเสือได้พาเจ้าพนักงานตํารวจไปปล่อยตัวนางเดือนออกมา โดยนางเดือนไม่ได้ รับอันตรายแต่อย่างใดนั้น ถือเป็นกรณีที่นายเสือได้จัดให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงเป็นเหตุให้ศาลลดโทษ คือ ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้ได้ แต่ต้องลงโทษไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งสําหรับความผิดนั้น ตามมาตรา 316
สรุป นายเสือมีความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313 แต่ศาลลดโทษให้ตามมาตรา 316
ข้อ 4 นางดารากู้ยืมเงินจากนางสมศรี 20,000 บาท โดยอ้างว่าเดือดร้อนเพราะลูกกําลังจะเปิดเทอมนางสมศรีเห็นว่านางดาราเป็นเพื่อนร่วมงานและเคยช่วยเหลือกันมาก่อน จึงให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย นางดารารับปากว่าถ้ากู้ยืมเงินสวัสดิการจากที่ทํางานได้จะรีบนํามาคืนให้ ต่อมานางดาราได้รับเงินกู้ สวัสดิการแล้วแต่กลับนําไปใช้จนหมด หลังจากเวลาผ่านไปได้ 2 เดือน นางสมศรีไปทวงถามเอาเงินคืน นางดาราได้ใช้อุบายหลอกลวงว่ายังไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้จากสวัสดิการของที่ทํางาน ต่อมา เมื่อนางสมศรีทราบว่านางดาราหลอกลวงจึงได้ไปแจ้งความให้ดําเนินคดีกับนางดาราในข้อหาฉ้อโกง ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นางดาราจะมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิด ข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบด้วย
1 หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
(ก) แสดงข้อความเป็นเท็จ หรือ
(ข) ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2 โดยการหลอกลวงนั้น
(ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
(ข) ทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ
3 โดยเจตนา
4 โดยทุจริต
กรณีตามอุทาหรณ์
การที่นางดารากู้ยืมเงินจากนางสมศรีโดยรับปากว่าถ้ากู้ยืมเงินจากสวัสดิการ ของที่ทํางานได้จะรีบนํามาคืนให้นั้น ไม่ถือว่าดาราได้หลอกลวงนางสมศรีโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการรับปากว่าจะทําสิ่งใดให้ในอนาคตเท่านั้น
ส่วนการที่นางดาราได้ใช้อุบายหลอกลวงนางสมศรีในตอนหลังว่า ยังไม่ได้รับอนุมัติเงินกู้ยืมจากสวัสดิการของที่ทํางานนั้น ก็เป็นการหลอกลวงภายหลังจากนางดาราได้กู้ยืมเงินจากนางสมศรีแล้ว และการหลอกลวงในครั้งหลังนี้ก็ไม่ทําให้นางดาราได้ทรัพย์สินจากนางสมศรีผู้ถูกหลอกลวงแต่อย่างใด ดังนั้นนางดารา จึงไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341
สรุป
นางดาราจะไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงตามข้อกล่าวหา