การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวของแดง 1 คูหา มีกําหนด 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันสิ้นเดือน สัญญาเช่ามีข้อความสําคัญ ดังนี้คือ

ข้อ 5. “เมื่อสัญญาเช่าครบกําหนด 3 ปีแล้ว ผู้ให้เช่าให้คํามั่นจะให้ผู้เช่า ๆ ต่อไปอีก 3 ปี”

ข้อ 6. “ผู้เช่าตกลงเช่าตึกแถวนี้เพื่อเปิดกิจการเป็นร้านเสริมสวยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น”

ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อขาวเช่าตึกได้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ขาวได้มี หนังสือแจ้งไปยังแดงว่าขาวขอเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามที่แดงให้คํามั่นจะให้เช่าไว้ในสัญญาข้อ 5 เมื่อ ขาวอยู่ในตึกแถวได้เพียง 1 ปี แดงได้ยกตึกแถวนี้ให้กับมืดบุตรชายของแดง การให้ได้ทําถูกต้องตามกฎหมาย ในปีที่ 2 ที่ขาวใช้ตึกแถว ขาวได้เปลี่ยนกิจการร้านเสริมสวยเป็นกิจการ อาบ อบ นวด ขึ้น นอกเหนือข้อตกลงในสัญญาข้อ 6 ดังนั้นมืดจึงบอกเลิกสัญญากับขาวทันที

ให้วินิจฉัยว่า การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกําหมายหรือไม่ และถ้าหากว่าขาวไม่เคยผิดสัญญาเลย แต่ขาวอยู่ในตึกแถวมาจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 หลังจากสัญญาเช่าครบ 3 ปีแล้ว มืดจึงฟ้อง ขับไล่ขาวออกจากตึกแถวโดยอ้างว่าสัญญาเช่าครบกําหนดตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2560 แล้ว ขาวต่อสู้ว่าขาวไม่ต้องออกไปจากตึกแถวเพราะขาวมีสิทธิอยู่ต่อไปอีก 3 ปี ขาวต่อสู้ได้หรือไม่ จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เข่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

มาตรา 552 “อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยม ปกติ หรือการดังกําหนดไว้ในสัญญานั้น ท่านว่าหาอาจจะทําได้ไม่”

มาตรา 554 “ถ้าผู้เช่ากระทําการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 552 มาตรา 553 หรือฝ่าฝืน ข้อสัญญา ผู้ให้เช่าจะบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้น ๆ ก็ได้ ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตาม ท่านว่าผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงและขาวมีกําหนด 3 ปี เมื่อได้ทําเป็น หนังสือสัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายและสามารถใช้บังคับกันได้ 3 ปี ตามมาตรา 538 และสัญญาเช่าข้อ 5 ที่ว่า “เมื่อสัญญาเช่าครบกําหนด 3 ปีแล้ว ผู้ให้เช่าให้คํามั่นจะให้ผู้เช่า ๆ ต่อไปอีก 3 ปี” นั้น ถือเป็นคํามั่นจะให้เช่า

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อขาวเช่าตึกแถวได้เพียง 1 เดือน ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ขาวได้มีหนังสือแจ้งไปยัง แดงว่าขาวขอเช่าต่อไปอีก 3 ปี ตามที่แดงให้คํามั่นจะให้เช่าตามสัญญาข้อ 5 ย่อมถือว่าขาวสนองรับต่อคํามั่นจะให้เช่าแล้ว จึงเกิดสัญญาเช่าตึกแถวรวม 6 ปี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญาเช่าดังกล่าวมิได้นําไปจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาเช่าจึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปีเท่านั้นตามมาตรา 538

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อขาวอยู่ในตึกแถวได้เพียง 1 ปี แดงได้ยกตึกแถวดังกล่าว ให้กับมืดบุตรชาย โดยการให้ได้ทําถูกต้องตามกฎหมายนั้น ไม่ทําให้สัญญาเช่าระหว่างแดงและขาวระงับสิ้นไป ตามมาตรา 569 วรรคหนึ่ง โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย กล่าวคือ มืดต้องให้ขาวเช่าตึกแถวต่อไป จนครบกําหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่า ตามมาตรา 569 วรรคสอง

สําหรับข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การบอกเลิกสัญญาเช่าของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และข้อต่อสู้ของขาวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

– กรณีที่ 1 การที่ขาวเช่าตึกแถวเพื่อเปิดกิจการเป็นร้านเสริมสวย แต่พอปีที่ 2 ขาวได้เปลี่ยน กิจการร้านเสริมสวย เป็นกิจการ อาบ อบ นวด นั้น ถือว่าขาวผู้เช่าได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจาก การที่ได้กําหนดไว้ในสัญญา ซึ่งเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 552 แล้ว ดังนั้น มืดผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิ ตามมาตรา 554 กล่าวคือ มืดมีสิทธิบอกกล่าวให้ขาวผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อสัญญาได้ และถ้าขาวละเลย เสียไม่ปฏิบัติตาม มืดผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ตามข้อเท็จจริง เมื่อขาวได้กระทําการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 552 มืดได้บอกเลิกสัญญา เช่ากับขาวทันทีโดยมิได้บอกกล่าวให้ขาวปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อตกลงในสัญญาข้อ 6 ก่อนแต่อย่างใด ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาเช่าของมืดในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

– กรณีที่ 2 เมื่อสัญญาเช่ามีผลใช้บังคับกันได้เพียง 3 ปี และเมื่อครบกําหนด 3 ปีแล้ว มืดย่อม มีสิทธิฟ้องขับไล่ขาวออกจากตึกแถวที่เช่าได้ ขาวจะต่อสู้ว่าตนมีสิทธิอยู่ต่อไปอีก 3 ปี จนครบกําหนด 6 ปีไม่ได้ เพราะเมื่อสัญญาเช่าดังกล่าวแม้จะมีระยะเวลา 6 ปี แต่เมื่อไม่ได้นําไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงฟ้องร้อง บังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตามมาตรา 538

สรุป

การที่มืดบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวทันที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อต่อสู้ของขาว ที่ว่าขาวมีสิทธิอยู่ต่อไปอีก 3 ปีนั้น ก็ไม่ชอบเช่นเดียวกัน

 

ข้อ 2. (ก) น้ำเงินทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เหลืองเช่ารถยนต์บรรทุกของน้ําเงินมีกําหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 เป็นต้นไป โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือนเป็นค่าเช่า เดือนละ 30,000 บาท เหลืองได้ให้เงินค่าเช่าล่วงหน้าไว้ในวันทําสัญญา 30,000 บาท ปรากฏว่า หลังจากที่เหลืองได้เช่ารถบรรทุกจากน้ําเงินมาแล้ว เหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่าสําหรับวันที่ 20 มกราคม 20 มีนาคม และ 20 พฤษภาคม 2560 เป็นค่าเช่าที่ไม่ได้ชําระ 3 เดือน ดังนั้น น้ำเงินจึงมีหนังสือแจ้งให้เหลืองนําค่าเช่ามาชําระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับ หนังสือบอกกล่าว ครั้นครบกําหนด 15 วันแล้ว เหลืองก็ไม่ได้ชําระค่าเช่าให้กับน้ำเงิน ดังนั้น น้ำเงินจึงจ้างให้มืดไปนํารถยนต์กลับคืนมาทันที

ให้วินิจฉัยว่า การกระทําของน้ําเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คําตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชําระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึ่งกําหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน”

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา 560 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าการชําระค่าเช่ากําหนด ชําระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชําระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชําระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เหลืองเช่ารถยนต์บรรทุกของน้ําเงินมีกําหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือน เป็นค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท และเหลืองได้ให้ เงินค่าเช่าล่วงหน้าไว้ในวันทําสัญญา 30,000 บาทนั้น เมื่อปรากฏว่าหลังจากที่เหลืองได้เช่ารถบรรทุกจากน้ำเงิน แล้ว เหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่าสําหรับวันที่ 20 มกราคม, 20 มีนาคม และ 20 พฤษภาคม 2560 ดังนั้น การที่เหลือง ได้ให้เงินค่าเช่าล่วงหน้าไว้ 30,000 บาทนั้น ย่อมถือว่าเป็นการจ่ายค่าเช่าให้แก่น้ำเงินแล้ว 1 เดือน คือเดือนมกราคม และถือว่าเหลืองไม่ชําระค่าเช่าให้แก่น้ำเงิน 2 เดือน คือเดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคม จึงมีผลทําให้น้ำเงิน มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและนํารถยนต์ที่ให้เช่ากลับคืนได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อตามสัญญาเช่านั้นมีการกําหนดชําระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน ดังนั้นการที่ น้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาเช่า น้ำเงินจะต้องบอกกล่าวให้เหลืองนําค่าเช่ามาชําระก่อนโดยต้องให้เวลาเหลืองไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งถ้าเหลืองไม่นําค่าเช่ามาชําระน้ำเงินก็จะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา 560 และเมื่อน้ำเงิน บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ก็จะมีผลทําให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลงและน้ําเงินย่อมสามารถนํารถยนต์ที่ให้เช่ากลับคืนได้

แต่ตามข้อเท็จจริง ปรากฏว่า เมื่อน้ำเงินได้มีหนังสือแจ้งให้เหลืองนําค่าเช่ามาชําระให้เสร็จสิ้น ภายใน 15 วัน แต่เหลืองก็ไม่ได้นําค่าเช่ามาชําระให้กับน้ำเงินภายในกําหนดเวลาดังกล่าวนั้น โดยหลักแล้วน้ำเงิน ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ แต่เมื่อปรากฏว่าน้ำเงินยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแต่อย่างใด แต่น้ำเงินได้จ้าง ให้มืดไปนํารถยนต์กลับคืนมาทันที ตามกฎหมายการที่น้ำเงินนํารถยนต์ที่ให้เช่ากลับคืนทันทีโดยไม่มีการบอกเลิก สัญญาเช่าตามมาตรา 560 ก่อนนั้น ย่อมถือว่าเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคหนึ่ง “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทําผิดสัญญา ในข้อที่เป็นส่วนสําคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย”

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ เมื่อหักเงินที่เหลืองได้ชําระล่วงหน้าแล้ว 1 เดือน แม้จะถือว่าเหลืองผิดนัดไม่ชําระค่าเช่าซื้อ 2 เดือน คือ เดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคมก็ตาม แต่เมื่อการที่เหลือง ผิดนัดไม่ใช้เงิน 2 เดือนนั้น มิใช่เป็นการผิดนัดไม่ใช้เงิน 2 เดือนติดกัน ดังนั้นน้ำเงินผู้ให้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญา เช่าซื้อเพื่อนําทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อกลับคืนไม่ได้เช่นเดียวกัน

สรุป

(ก) การกระทําของน้ำเงินที่นํารถยนต์กลับคืนโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาเช่านั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) ถ้าเป็นสัญญาเช่าซื้อ น้ำเงินก็จะนํารถยนต์กลับคืนไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะน้ำเงินไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ดังนั้น คําตอบจึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ 3. ม่วงจ้างให้แสดมาทํางานเป็นพนักงานทําภาชนะบรรจุของซึ่งเป็นภาชนะที่ทําด้วยพลาสติกโดยให้ค่าจ้างคราวละ 7,500 บาท และจะจ่ายค่าจ้างให้ทุก ๆ วันศุกร์ของเดือน มีกําหนดเวลาจ้าง 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 แสดทํางานให้ม่วงมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2560 แม้สัญญาจ้างจะครบกําหนดแล้วก็ตาม ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2560 ม่วงจึงบอกเลิกสัญญาจ้างกับแสด และแสดต้องทํางานให้ม่วงถึงวันที่เท่าใด จงวินิจฉัย

และหากปรากฏว่ามืดจ้างม่วงให้ผลิตภาชนะบรรจุของให้จํานวน 50 กล่อง โดยจ่ายสินจ้างให้ เมื่องานเสร็จเป็นเงิน 100,000 บาท แต่ขณะที่ม่วงให้พนักงานออกแบบกล่องสินค้าและเริ่มจะ ผลิตสินค้าให้กับมืด มืดเปลี่ยนใจบอกเลิกสัญญาไม่จ้างให้ม่วงผลิตสินค้าดังกล่าวให้ ดังนี้มืดมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

ตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

  1. กรณีระหว่างม่วงกับแสด

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 581 “ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทํางานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทําสัญญาจ้างกันใหม่ โดยความ อย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตรา ต่อไปนี้”

มาตรา 582 “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กําหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทําได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้า กว่าสามเดือน

อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแต่ลูกจ้างเสียให้ครบจํานวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียวแล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทําได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาจ้างระหว่างม่วงนายจ้างและแสดลูกจ้างมีกําหนด 1 ปี และได้ ครบกําหนดแล้วในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่แสดยังคงทํางานให้ม่วงมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2560 โดยม่วง นายจ้างก็ไม่ทักท้วงนั้น ตามมาตรา 581 ให้สันนิษฐานว่าคู่สัญญาได้ทําสัญญาจ้างกันใหม่และเป็นสัญญาจ้างที่ ไม่มีกําหนดเวลาโดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม และคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้

ตามมาตรา 582 โดยการบอกกล่าวเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผล เลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อม่วงได้ตกลงจะจ่ายค่าจ้างให้แก่แสดทุก ๆ วันศุกร์ของเดือนนั้น การที่ม่วงได้บอกเลิกสัญญาจ้างกับแสดในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2560 ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาก่อนถึง กําหนดจ่ายสินจ้างในวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560 จึงต้องถือว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างในวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันกําหนดจ่ายสินจ้าง และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างในวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2560 ดังนั้น แสดจึงต้องทํางานต่อไปให้แก่ม่วงจนถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2560

  1. กรณีระหว่างมืดกับม่วง

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 587 “อันว่าจ้างทําของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทําการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสําเร็จ แห่งการที่ทํานั้น”

มาตรา 605 “ถ้าการที่จ้างยังทําไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อ เสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น”

วินิจฉัย

โดยหลัก ในเรื่องสัญญาจ้างทําของนั้น ถ้าการที่จ้างยังทําไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิก สัญญาได้ แต่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ ที่เกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้กับ ผู้รับจ้าง (มาตรา 605)

ตามอุทาหรณ์ การที่มืดจ้างม่วงให้ผลิตภาชนะบรรจุของให้จํานวน 50 กล่อง โดยจ่ายสินจ้าง ให้เมื่องานเสร็จเป็นเงิน 100,000 บาทนั้น ถือเป็นสัญญาจ้างทําของตามมาตรา 587 เมื่อปรากฏว่าในขณะที่ม่วง ให้พนักงานออกแบบกล่องสินค้าและเริ่มจะผลิตสินค้าให้กับมืดนั้น มืดได้เปลี่ยนใจบอกเลิกสัญญาไม่จ้างให้ม่วง ผลิตสินค้าดังกล่าว ดังนี้มืดย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ แต่มืดต้องเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย อย่างใด ๆ ที่เกิดจากการยกเลิกสัญญานั้นให้แก่ม่วงด้วยตามมาตรา 605

สรุป

แสดต้องทํางานให้ม่วงจนถึงวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2560

มืดมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ แต่ต้องเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ม่วงด้วย

Advertisement