การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนําข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน (มาตรา 149) ให้อธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

Advertisement

มาตรา 149 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ…”

อธิบาย
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิก
สภาเทศบาล
2. เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
3. เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
4. โดยเจตนา

“เรียก” หมายถึง การที่เจ้าพนักงานฯ แสดงเจตนาให้บุคคลอื่นส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้ แม้บุคคลนั้นจะยังไม่ได้ส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้ก็ถือเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“รับ” หมายถึง การที่บุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ และเจ้าพนักงานฯ ได้รับเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้แล้ว

“ยอมจะรับ” หมายถึง การที่บุคคลอื่นเสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ และเจ้าพนักงานฯ ตกลงยอมจะรับในขณะนั้นหรือในอนาคต แต่ยังไม่ได้รับ

การเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ นอกจากผู้กระทําจะต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 คือ รู้ว่าตนได้เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับ ตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบแล้ว ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย คือ

(ก) เพื่อกระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่าง ร.ต.อ.แดงออกตรวจท้องที่พบเห็นนายดําฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ ร.ต.อ.แดง ไม่ยอมจับกุมนายดํา นายขาวจึงยื่นเงินให้ ร.ต.อ.แดง 10,000 บาท เพื่อให้จับกุมนายดํา ร.ต.อ.แดงรับเงินมาแล้วจึง จับกุมนายดําส่งสถานีตํารวจเพื่อดําเนินคดี ดังนี้ ร.ต.อ.แดงย่อมมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149

(ข) เพื่อไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่
ตัวอย่าง นายเอกเป็นตํารวจจราจรกําลังตั้งด่านตรวจ พบเห็นนายโทขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยไม่สวมหมวกกันน็อก จึงเรียกให้จอดรถ แล้วบอกกับนายโทว่า “ถ้าไม่อยากถูกออกใบสั่ง ขอเงินให้ตน 500” ดังนี้ แม้นายโทจะไม่ได้ให้เงินตามที่นายเอกบอก นายเอกก็มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนตาม มาตรา 149 แล้ว

 

ข้อ 2. นายตี๋ลอบเสพยาบ้าในเวลากลางคืน มีไฟฟ้าให้แสงสว่าง ตํารวจสายตรวจไปพบเข้าจึงล้อมจับนายตี๋ได้สับคัทเอ้าท์ลงทําให้ไฟฟ้าทั้งหลังดับแล้วจึงอาศัยความมืดหลบหนีไป ดังนี้ นายตี๋มีความผิด ต่อเจ้าพนักงานประการใด หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 138 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามมาตรา 138 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้ คือ
1. ต่อสู้หรือขัดขวาง
2. เจ้าพนักงาน หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
3. โดยเจตนา

“ต่อสู้” หมายถึง การใช้กําลังขัดขืน เพื่อไม่ให้การกระทําของเจ้าพนักงานสําเร็จผล เช่น สะบัดมือให้พ้นจากการจับกุม หรือดิ้นจนหลุด

“ขัดขวาง” หมายถึง การกระทําด้วยประการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานหรือทําให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลําบาก เพื่อไม่ให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้น ประสบความสําเร็จ เช่น ตํารวจจะวิ่งเข้าไปจับนาย ก. นาย ก. จึงเอาท่อนไม้ไปขวางไว้ เป็นต้น

โดยการกระทําที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ อาจจะเป็นการต่อสู้อย่างเดียว หรือขัดขวาง อย่างเดียว หรืออาจเป็นทั้งการต่อสู้และขัดขวางก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ตํารวจสายตรวจไปพบนายตี๋กําลังลอบเสพยาบ้าในเวลากลางคืน จึงล้อมจับ และนายตี๋ได้ดับไฟแล้วหนีไปนั้น การกระทําดังกล่าวของนายตี๋มิได้เป็นการต่อสู้หรือขัดขวางตํารวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 138 แต่ประการใด เพราะนายตี๋ เพียงแต่ดับไฟเพื่อหนีตํารวจไปเท่านั้น ดังนั้น นายตี๋จึงไม่มีความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

สรุป
นายตี๋ไม่มีความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

 

ข้อ 3. นายตุ่มจะเผาบ้านที่อยู่อาศัยของนายขวด ในขณะที่นายตุ่มรอเวลาจะไปกระทําตามแผนการที่คิดไว้ นายตุ่มจุดบุหรี่สูบแล้วทิ้งก้านไม้ขีดไฟลงบนพื้นบ้าน เปลวไฟถูกถุงพลาสติกใส่น้ำมันเบนซินที่ ซื้อมาเตรียมไว้เพื่อราดจุดไฟเผาตามแผน ไฟลุกไหม้บ้านนายตุ่มแล้วลุกลามไปไหม้บ้านนายโอ่ง ซึ่งอยู่ใกล้กันเสียหายแต่ห้องครัว ดังนี้ นายตุ่มมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 217 “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ”
มาตรา 219 “ผู้ใดตระเตรียมเพื่อกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 หรือมาตรา 218 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับพยายามกระทําความผิดนั้น ๆ”
มาตรา 225 “ผู้ใดกระทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือการกระทําโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานกระทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทตามมาตรา 225 ประกอบด้วย
1. กระทําให้เกิดเพลิงไหม้
2. โดยประมาท
3. เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์
การที่นายตุ่มจะเผาบ้านที่อยู่อาศัยของนายขวด และได้นําถุงพลาสติก ใส่น้ำมันเบนซินที่ซื้อมาเตรียมไว้เพื่อราดจุดไฟเผาตามแผนนั้น แม้ว่านายตุ่มจะยังไม่ได้เผาโรงเรือนอันเป็นที่อยู่อาศัยของนายขวดก็ตาม แต่การกระทําของนายตุ่มถือว่าเป็นการตระเตรียมที่จะวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นแล้ว ดังนั้น นายตุ่มจึงมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามมาตรา 219

และการที่นายตุ่มได้จุดบุหรี่สูบแล้วทิ้งก้านไม้ขีดไฟลงบนพื้นบ้าน เปลวไฟถูกถุงพลาสติก ใส่น้ำมันและไฟได้ไหม้บ้านนายตุ่มแล้วลุกลามไปไหม้บ้านนายโอ่งซึ่งอยู่ใกล้กันเสียหายแต่ห้องครัวนั้น ถือว่าเป็นการกระทําโดยประมาททําให้เกิดเพลิงไหม้และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย ดังนั้น นายตุ่มจึงมีความผิด เกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนฐานทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทตามมาตรา 225 อีกกระทงหนึ่ง
สรุป
นายตุ่มมีความผิดฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 219 และ ฐานทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทตามมาตรา 225

 

ข้อ 4. นายแก้วได้เสียอยู่กินกับนางวันทองซึ่งมีอายุ 18 ปี โดยจดทะเบียนสมรสมาได้หนึ่งปีแล้วนางวันทองหนีไปอยู่กินกับนายช้าง นายแก้วตามนางวันทองกลับมาแล้วขอหลับนอนด้วย นางวันทองไม่ยอม นายแก้วจึงใช้ยาทําให้นางวันทองหมดสติแล้วใช้อวัยวะเพศสอดเข้าทางช่องทวารหนักของนางวันทอง จนสําเร็จความใคร่ ดังนี้ นายแก้วมีความผิดเกี่ยวกับเพศประการใดหรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 276 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ผู้ใดข่มขืนกระทําชําเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการ ใด ๆ โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทําให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตน เป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ…

การกระทําชําเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทําเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทํา โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทํากระทํากับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใด กระทํากับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น”

วินิจฉัย
ความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้คือ
1. ข่มขืนกระทําชําเรา
2. ผู้อื่น
3. โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทําให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น
4. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์
การที่นายแก้วได้ใช้ยาทําให้นางวันทองหมดสติแล้วใช้อวัยวะเพศ สอดเข้าไปทางช่องทวารหนักของนางวันทองจนสําเร็จความใคร่นั้น การกระทําของนายแก้วดังกล่าวถือว่าเป็นการข่มขืนกระทําชําเราผู้อื่น โดยใช้กําลังประทุษร้ายตามมาตรา 276 วรรคหนึ่งแล้ว เพราะแม้ว่านางวันทองจะเป็นภริยาที่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายแก้วก็ตามก็ถือว่านางวันทองเป็น “ผู้อื่น” ตามความหมายของมาตรา 276 วรรคหนึ่ง และตามมาตรา 276 วรรคสองได้ให้ความหมายของการกระทําชําเราว่าให้หมายความรวมถึงการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทํากระทํากับทวารหนักของผู้อื่นด้วย

สรุป
นายแก้วมีความผิดเกี่ยวกับเพศฐานข่มขืนกระทําชําเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง ประกอบวรรคสอง

Advertisement