การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 137 ให้อธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

Advertisement

มาตรา 137 “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ”

อธิบาย ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 137 นี้สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1. แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
2. แก่เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
4. โดยเจตนา

“แจ้งข้อความ” หมายถึง การกระทําด้วยประการใด ๆ ให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น อาจกระทําโดยวาจา โดยการเขียนเป็นหนังสือ หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้

“ข้อความอันเป็นเท็จ” หมายถึง ข้อความที่นําไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง เช่น นาย ก. ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ข. โดยแจ้งต่อนายอําเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน ทั้ง ๆ ที่นาย ก. มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว คือ นาง ค. เช่นนี้เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้

การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 137 นี้อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือ
(ก) ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง
(ข) โดยตอบคําถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้

อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว เช่น ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่าบิดาเป็นไทย ความจริงเป็นจีน ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 137 นี้แล้ว

สําหรับการฟ้องเท็จในคดีแพ่งหรือการยื่นคําให้การเท็จในคดีแพ่ง ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานเป็นแต่การดําเนินกระบวนพิจารณาในศาล จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 (คําพิพากษาฎีกาที่ 1274/2513)

ส่วนในคดีอาญา ผู้ต้องหาชอบที่จะให้การแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้ เพื่อให้ตนเองพ้นผิด หรือจะไม่ยอมให้การเลยก็ได้ แม้คําให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ หรือให้การไปโดยเชื่อว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้ต้องหา ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แม้ต่อมาจะได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทําผิด ก็ยังถือว่าเป็นคําให้การในฐานะผู้ต้องหาอยู่ (คําพิพากษาฎีกาที่ 1093/2522) แต่ถ้าจําเลยได้แจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหา ไม่ถือว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสําเร็จนั้น เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น เช่น เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน หรือได้ยินแต่กําลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสําเร็จ เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น

“แก่เจ้าพนักงาน” เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้ ต้องมีอํานาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดําเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น และต้องกระทําการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย เช่น นายอําเภอ ปลัดอําเภอ ตํารวจ กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้ง ข้อความหรือ
เรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอํานาจของเจ้าพนักงานที่จะดําเนินการได้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

“ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย” การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

อนึ่งกฎหมายใช้คําว่า “อาจทําให้เสียหาย” จึงไม่จําเป็นต้องเกิด ความเสียหายขึ้นแล้วจริง ๆ เพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทําจะต้องกระทําด้วยเจตนาตามมาตรา 59 กล่าวคือ ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็น ความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 137

นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ นางโท หลังจากนั้นนายเอกยังได้ไปจดทะเบียนสมรส กับ น.ส.ตรี อีก โดยแจ้งต่อนายอําเภอว่าไม่เคยมีภริยามาก่อนและไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ซึ่งทั้งนางโทและ น.ส.ตรีไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย เช่นนี้จะเห็นว่านายเอกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ต่อนายอําเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งมีอํานาจหน้าที่ในการรับแจ้งจดทะเบียนสมรส ซึ่งกระทําโดยเจตนา เพราะนายเอกรู้ว่านายอําเภอเป็นเจ้าพนักงาน และรู้ว่าข้อความที่แจ้งเป็นเท็จ หากนายอําเภอรับจดทะเบียนสมรสให้ก็อาจจะทําให้นางโทและ น.ส.ตรีเสียหาย แก่เกียรติยศและชื่อเสียงได้ นายเอกจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137

แต่ถ้านายเอกและนางโทได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับไม่มีคู่สมรส ดังนี้ การที่นายเอกไปแจ้งต่อนายอําเภอว่าตนเคยมีภริยามาแล้ว แต่ไม่เคยจดทะเบียนสมรส จึงไม่อาจจะทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 137 นี้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 1237/2544)

 

ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ให้อธิบายหลักกฎหมายความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 149 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือ สมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ”

อธิบาย
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1. เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
2. เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
3. เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
4. โดยเจตนา

“เรียก” หมายถึง การที่เจ้าพนักงานฯ แสดงเจตนาให้บุคคลอื่นส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดให้ แม้บุคคลนั้นจะยังไม่ได้ส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้ก็ถือเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“รับ” หมายถึง การที่บุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ และเจ้าพนักงานฯ ได้รับเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้แล้ว

“ยอมจะรับ” หมายถึง การที่บุคคลอื่นเสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ และเจ้าพนักงานฯ ตกลงยอมจะรับในขณะนั้นหรือในอนาคต แต่ยังไม่ได้รับ

การเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ นอกจากผู้กระทําจะต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 คือ รู้ว่าตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบแล้ว ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย คือ

(ก) เพื่อกระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่
ตัวอย่าง ร.ต.อ.แดงออกตรวจท้องที่พบเห็นนายดําฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ ร.ต.อ.แดง ไม่ยอมจับกุมนายดํา นายขาวจึงยื่นเงินให้ ร.ต.อ.แดง 10,000 บาท เพื่อให้จับกุมนายดํา ร.ต.อ.แดงรับเงินมาแล้วจึง จับกุมนายดําส่งสถานีตํารวจเพื่อดําเนินคดี ดังนี้ ร.ต.อ.แดงย่อมมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149

(ข) เพื่อไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่
ตัวอย่าง นายเอกเป็นตํารวจจราจรกําลังตั้งด่านตรวจ พบเห็นนายโทขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยไม่สวมหมวกกันน็อก จึงเรียกให้จอดรถ แล้วบอกกับนายโทว่า “ถ้าไม่อยากถูกออกใบสั่ง ขอเงินให้ตน 500” ดังนี้ แม้นายโทจะไม่ได้ให้เงินตามที่นายเอกบอก นายเอกก็มีความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนตามมาตรา 149 แล้ว

 

ข้อ 3. วัยรุ่นสิบคนมั่วสุมสมคบกันเพื่อข่มขืนกระทําชําเรานักศึกษาผู้หนึ่ง แล้วไปรอดักนักศึกษาผู้นั้นที่ปากซอยเข้าบ้าน แต่ตํารวจจับวัยรุ่นทั้งสิบคนได้เสียก่อน ดังนี้ วัยรุ่นมีความผิดประการใดหรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 210 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิด ฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 215 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษ”

มาตรา 276 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดข่มขืนกระทําชําเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทําให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิดดังนี้
1. สมคบกัน
2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
3. เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
4. โดยเจตนา

“การสมคบกัน” ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

(ก) จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน และ
(ข) จะต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะกระทําความผิด

การสมคบกันนั้น จะต้องสมคบกัน “ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” จึงจะเป็นความผิด ดังนั้นจะมากกว่า 5 คน หรือ 5 คนพอดี ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่ถ้าต่ำกว่าห้าคนแล้วไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร

“เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2” หมายความว่า ความผิดนั้น ต้องเป็นความผิดตามภาค 2 ได้แก่ ความผิดตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 366 เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ข่มขืนกระทําชําเรา ฆ่าคนตาย วางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น

“ความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป” หมายความว่า โทษอย่างสูง เป็นอัตราโทษอย่างสูงตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ซึ่งมิใช่โทษที่ศาลจะลงแก่ผู้กระทํา ความผิด ทั้งนี้จะต้องมีกําหนดโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วย

“โดยเจตนา” หมายความว่า รู้สํานึกว่าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แต่ไม่จําเป็นต้องรู้ว่าความผิดที่จะกระทํานั้นมีโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปหรือไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่วัยรุ่นสิบคนมั่วสุมสมคบกันเพื่อข่มขืนกระทําชําเรานักศึกษาผู้หนึ่งนั้น ถือว่าเป็นการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยมีเจตนาที่จะกระทําความผิดแล้ว และเมื่อความผิดที่จะกระทําคือ ความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเรานั้น เป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 และมี กําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 แล้ว ดังนั้น วัยรุ่นทั้งสิบคนจึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อมามีว่า วัยรุ่นทั้งสิบคนจะมีความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเราตาม มาตรา 276 และความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 หรือไม่ เห็นว่า วัยรุ่นทั้งสิบคนยังไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเราตามมาตรา 276 เพราะการที่วัยรุ่นทั้งสิบคนไปรอดักนักศึกษาผู้นั้น ที่ปากซอยเข้าบ้าน แต่ถูกตํารวจจับได้เสียก่อนนั้น ถือว่าเป็นเพียงอยู่ในขั้นตระเตรียมการเท่านั้นยังไม่ได้ลงมือกระทําความผิด ซึ่งตามกฎหมายยังไม่ถือว่าเป็นความผิด และวัยรุ่นทั้งสิบคนก็ไม่มีความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้ เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 ด้วยเช่นกัน เพราะวัยรุ่นทั้งสิบคนยังมิได้กระทําการใด ๆ เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

สรุป
วัยรุ่นทั้งสิบคนยังไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเราตามมาตรา 276 และไม่มี ความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 แต่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตาม มาตรา 210

 

ข้อ 4. หญิงสองคนช่วยกันจับนางสาวกากีให้ชายสามคนกระทําชําเรา ชายคนแรกกระทําชําเราจนสําเร็จความใคร่ไปแล้ว ชายคนที่สองกําลังกระทําชําเราอยู่ แต่ยังไม่สําเร็จความใคร่ ส่วนชายคนที่สามได้ ถอดกางเกงยืนรออยู่ ขณะนั้นมีรถตํารวจสายตรวจวิ่งผ่านมา หญิงสองคนและชายสามคนดังกล่าว จึงวิ่งหนีแยกย้ายกันไป ดังนี้ หญิงสองคนและชายสามคนดังกล่าวนั้นมีความผิดเกี่ยวกับเพศ ประการใดหรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 276 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “ผู้ใดข่มขืนกระทําชําเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทําให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตน เป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ

ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทําโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือร่วมกัน กระทําความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทํากับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้คือ
1. ข่มขืนกระทําชําเรา
2. ผู้อื่น
3. โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทําให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น
4. โดยเจตนา

คําว่า “ผู้ใด” ตามมาตรา 276 วรรคหนึ่งนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าจะต้องเป็นชายหรือหญิง ดังนั้น ผู้กระทําที่จะมีความผิดตามมาตรานี้อาจจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้

และตามมาตรา 276 วรรคสาม การร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้น หมายความว่าจะต้องมีการร่วมผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทําชําเราตั้งแต่สองคนขึ้นไปด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หญิงสองคนช่วยกันจับนางสาวกากีให้ชายสามคนกระทําชําเรานั้น แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ชายคนแรกได้กระทําชําเราจนสําเร็จความใคร่ไปแล้ว และชายคนที่สองกําลังกระทําชําเรา อยู่แต่ยังไม่สําเร็จความใคร่ ส่วนชายคนที่สามได้ถอดกางเกงยืนรออยู่ กรณีดังกล่าวนี้ย่อมถือได้ว่า มีการร่วมผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทําชําเรานางสาวกาตั้งแต่สองคนขึ้นไปแล้ว จึงเป็นการร่วมกันกระทําความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามนัยของมาตรา 276 วรรคหนึ่ง และวรรคสามแล้ว ดังนั้น หญิงสองคนและชายสามคนดังกล่าว จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันข่มขืนกระทําชําเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงทุกคน ตามมาตรา 276 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83

สรุป
หญิงสองคนและชายสามคนดังกล่าวมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันข่มขืนกระทําชําเรา อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตามมาตรา 276 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83

Advertisement