การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2103 การเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 4 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ
ข้อ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้วางหลักเกณฑ์ใหม่สําหรับใช้ในการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีสาระสําคัญเป็นการกระจายอํานาจเพื่อให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง ดังนั้นอยากทราบว่า สาระในหมวดเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าวไว้อย่างไรบ้าง
แนวคําตอบ (คําบรรยาย)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 (รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540) ได้วางหลักเกณฑ์ใหม่สําหรับใช้ในการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีสาระสําคัญเป็นการกระจายอํานาจเพื่อให้ท้องถิ่นพึ่งตนเอง ดังนั้นจึงถือเป็นกฎหมายแม่บทสําหรับการกระจายอํานาจการปกครองจากส่วนกลางไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น ตามเจตนารมณ์ของประชาชน
สรุปว่า การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันมีผลมาจาก รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540
จากบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 สามารถสรุปสาระสําคัญของ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยได้ ดังนี้
1 ความเป็นอิสระของท้องถิ่น ได้แก่ ความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นของตน ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล และความเป็นอิสระด้านการเงินและการคลัง
2 โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้อง ประกอบด้วยสภาท้องถิ่นและคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือการกําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แยกออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร โดยสมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง ส่วนคณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นก็ได้ มีวาระ ในการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี
3 อํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การจัดให้บริการด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ การบํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การส่งเสริมและรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อม
4 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถ ดําเนินกิจการต่าง ๆ ของท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญจึงมีการบัญญัติให้มีการจัดสรรสัดส่วนภาษีและ อากรระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันเอง
5 การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กําหนดให้มีคณะกรรมการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ ทําหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการบริหารงานบุคคลในกรณีต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ การให้สิทธิแก่ผู้มีสิทธิ์ เลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีสิทธิในการ เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น
7 การกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปอย่าง เป็นระบบและถูกต้อง ส่วนกลางยังคงมีอํานาจในการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องทําเท่าที่จําเป็น ตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม โดยจะกระทบถึงสาระสําคัญแห่งหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น หรือนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่ได้
ข้อ 2 จากที่ได้ศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยากทราบว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นไปในลักษณะใด ให้นักศึกษาอธิบายตามความเข้าใจ
แนวคําตอบ
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นไปใน 2 ลักษณะ ได้แก่ ความสัมพันธ์ในเชิงการจัดภารกิจระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และความสัมพันธ์ในเชิงการควบคุม
กํากับดูแล
1 ความสัมพันธ์ในเชิงการจัดภารกิจระหว่างภารกิจของรัฐบาลกับภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ ภารกิจของรัฐบาล จําแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) ภารกิจทางปกครอง ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การป้องกันประเทศ การต่างประเทศ การอํานวยความยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้เป็นภารกิจโดยแท้ ของรัฐบาลที่รัฐบาลจะเป็นผู้ดําเนินการเอง
2) ภารกิจทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางอุตสาหกรรม และ พาณิชยกรรม เช่น การขนส่ง การเดินรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลข การไฟฟ้า การประปา ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลก็ได้
3) ภารกิจทางสังคม ได้แก่ การให้บริการสาธารณะทางสังคม เช่น การให้บริการ การศึกษา การรักษาพยาบาล การสาธารณสุข การกีฬา การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งภารกิจประเภทนี้ รัฐบาลอาจเป็นผู้ดําเนินการเองโดยผ่านส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือมอบให้เอกชนเป็นผู้ดําเนินการแทน ภายใต้การกํากับดูแลของรัฐบาลก็ได้
ภารกิจของท้องถิ่น จะเกิดขึ้นจากลักษณะของสภาพชุมชนเอง โดยภารกิจดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปสอดส่องดูแลได้โดยทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งโดยลักษณะของภารกิจ ก็เป็นเรื่องของความต้องการเฉพาะแต่ละชุมชน เช่น การรักษาความสะอาด การกําจัดขยะมูลฝอย การให้มี น้ําสะอาด ตลาด โรงฆ่าสัตว์ สุสาน ฌาปนสถาน ฯลฯ
2 ความสัมพันธ์ในเชิงการควบคุมกํากับดูแล
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ที่การควบคุมกํากับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สําคัญประการหนึ่งของการกระจายอํานาจ การกระจายอํานาจโดยปราศจากการควบคุมกํากับ ย่อมทําให้รัฐเดียวไม่สามารถดํารงตนอยู่ได้
การควบคุมกํากับนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1) การควบคุมกํากับโดยตรง แบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ
(1) การควบคุมกํากับตัวบุคคลหรือองค์กร เป็นการควบคุมสถานภาพทาง กฎหมายของคณะบุคคลหรือบุคคลคนเดียวที่อยู่ในรูปของคณะบุคคล (เช่น คณะเทศมนตรี สภาเทศบาล นายกเทศมนตรี) อย่างเช่นกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางที่จะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ ตําแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอํานาจเสนอความเห็น ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นออกจากตําแหน่งได้
(2) การควบคุมกํากับการกระทํา โดยการกระทําที่สําคัญขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกํากับของรัฐบาล ได้แก่ การให้ความเห็นชอบต่องบประมาณขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น การสั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่ง
2) การควบคุมกํากับโดยอ้อม แบ่งออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ
(1) การให้เงินอุดหนุน นับเป็นมาตรการในการควบคุมกํากับโดยทางอ้อม ประการหนึ่ง โดยทุกปีรัฐจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(2) การใช้สัญญามาตรฐาน ในการจัดทําสัญญาต่าง ๆ ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นนั้น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นกําหนดว่าจะต้องทําตามแบบที่อยู่ในส่วนที่แนบท้ายระเบียบ และการเปลี่ยนแปลงสัญญาจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบ จากอัยการจังหวัด
ข้อ 3 ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยมีอะไรบ้าง ผู้นําท้องถิ่น พรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์เป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ อย่างไร
แนวคําตอบ (หน้า 97 – 106), (คําบรรยาย)
การเมืองส่วนท้องถิ่นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะมีศูนย์กลางอํานาจการปกครองอยู่ที่ ประชาชน โดยประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจเลือกตัวแทนไปบริหารท้องถิ่น ซึ่งตัวแทนประชาชนจะถูกเลือกขึ้นมา ผ่านกลุ่มการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์
ปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย มีดังนี้
1 ปัญหาการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยการปกครองท้องถิ่น ได้แก่
1) มีค่าใช้จ่ายสูง (Cost) คือ เมื่อมีการจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่นขึ้นมามาก ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นด้วย เช่น การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) หรือการยกฐานะของเทศบาลขึ้นมาก็ต้อง มีการเพิ่มคน เพิ่มอุปกรณ์ และเพิ่มค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จนอาจต้องมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศมาใช้ ดังนั้นการจัดตั้ง หน่วยการปกครองท้องถิ่นให้มากขึ้นจึงต้องมองในแง่ของการประหยัดด้วย เพราะในบางตําบลมีเพียงหมู่บ้านเดียว และมีประชากรจํานวนไม่มากนัก
2) ความไร้ประสิทธิภาพ (Inefficiency) คือ ในการจัดตั้งหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่สามารถหาคนที่มีความรู้เพียงพอมาทํางานได้ ดังนั้นความก้าวหน้าในการพัฒนาท้องถิ่นจึงไม่สามารถทําได้ดี เท่าที่ควร
3) ความเฉื่อยชา (Inertia) จากการใช้คนในพื้นที่เข้ามาบริหารอํานาจ เพราะบางครั้ง แทนที่จะทําให้ท้องถิ่นก้าวหน้า แต่กลับทําให้ท้องถิ่นเฉื่อยชาลง เนื่องจากยึดติดกับความคิดดั้งเดิม
4) ความไม่เสมอภาค (Inequality) ทําให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันของหน่วยงาน เพราะท้องถิ่นบางแห่งรวยจนไม่เท่ากัน บางแห่งมีทรัพยากรมาก บางแห่งมีคนที่มีความคิดริเริ่มมาก แต่บางแห่งผู้นําไม่มีวิสัยทัศน์และความรู้เพียงพอ ซึ่งในระยะแรกของการจัดตั้ง อบต. ขึ้นจะมีการจัดสรรเงินให้กับหน่วยงานนั้นเท่ากันทุก อบต. แต่ต่อมาได้พิจารณาเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของหน่วยงาน การจัดสรรรายได้จึง เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ถ้า อบต. ใดมีรายได้มากก็จัดสรรเงินให้น้อยลง แต่ถ้ามีฐานะไม่ดีนักหรือมีรายได้น้อยก็จะจัดสรรเงินให้มากขึ้น จึงทําให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานเล็ก ๆ เพราะบางครั้งทั้ง อบต. มีคนอยู่เพียง 50 – 60 คน แต่ได้รับเงินมาเป็นล้าน แล้วก็จะนํามาแบ่งกันได้มาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอีก เพราะเมื่อมีการคิดที่จะยกเลิก อบต. ขึ้นมา หน่วยงานเล็ก ๆ ก็ต่อต้านเนื่องจากกลัวเสียประโยชน์จากเงินอุดหนุนของรัฐบาล
5) ความเห็นแก่ตัว (Selfishness) คือ ท้องถิ่นมักจะไม่ค่อยบังคับใช้กฎหมายที่ทําให้ ตนเองเสียประโยชน์ เช่น ไม่ยอมเก็บภาษีจากคนรวยและญาติพี่น้อง ให้ความสําคัญกับประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ประโยชน์สาธารณะ เพราะถือว่ามีอํานาจอยู่ในมือ ซึ่งในวงการบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นการจัดเก็บภาษีมาบํารุงท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ถูกปล่อยปละละเลย เพราะมัวแต่คิดว่าหากมีการจัดเก็บภาษีขึ้นจะทําให้ฐานเสียงน้อยลงไป
6) ความอ่อนแอ (Weakness) ของประชาชนหรือชุมชน คือ การยอมสยบต่อผู้มี อิทธิพล ซึ่งถ้าหากกลไกของหน่วยงานต้องไปสยบต่อผู้มีอิทธิพลมาก ก็จะทําให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม
7) ความเป็นเจ้าของ (Possessiveness) ของผู้กุมอํานาจ คือ นักการเมืองประจํา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพื้นที่เดิมมักเป็นพวกอนุรักษนิยม มีการผูกขาดอํานาจ ไม่ยอมให้มีการคลายอํานาจ ไปสู่เบื้องล่าง
2 ปัญหาผู้นําท้องถิ่น เนื่องจากว่าผู้นําท้องถิ่นเป็นผู้ที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการพัฒนา แต่ผู้นําท้องถิ่นกลับหวงอํานาจที่ชาวบ้านนับถือไว้วางใจ จึงทําให้ผู้นําท้องถิ่นมีอิทธิพลในการกดขี่ ข่มขู่ และชี้นํา ชาวบ้านให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไปตามความต้องการของตน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น การออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้นําในการ เรียกร้องผลประโยชน์ตามความต้องการได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าอยากให้การเมืองส่วนท้องถิ่นมีการพัฒนาไปสู่ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนาผู้นําท้องถิ่นก่อน
3 ปัญหาพรรคการเมือง เนื่องจากว่าพรรคการเมืองเป็นกลุ่มบุคคลที่ทําให้ท้องถิ่นเกิดการ พัฒนา แต่พรรคการเมืองกลับเข้ามาครอบงําการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นแหล่งผลประโยชน์และฐานอํานาจ ที่สําคัญ ซึ่งพรรคการเมืองพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือการเมืองส่วนท้องถิ่นนั้นให้ได้ โดยอาศัยระบบราชการ กลไกการปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดตั้งตัวแทนของพรรคเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์กับประชาชนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการสร้างฐานอํานาจของตนเองจากท้องถิ่นขึ้นไปกอน ซึ่งจะเห็นได้จากนักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่สังกัด พรรคการเมืองมักจะได้รับการเลือกตั้งมากกว่านักการเมืองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง จึงทําให้ พรรคการเมืองสามารถใช้การเมืองส่วนท้องถิ่นเป็นฐานอํานาจที่สําคัญยิ่งในการก้าวเข้าสู่อํานาจทางการเมือง และแสวงหาผลประโยชน์จากอํานาจทางการเมืองส่วนท้องถิ่นได้อย่างไม่จํากัด การจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับ ท้องถิ่นจึงเป็นการทําเพื่อรักษาและสร้างฐานอํานาจของพรรคการเมืองอย่างหนึ่งเท่านั้น และนโยบายของแต่ละ พรรคการเมืองที่เข้ามาพัฒนาท้องถิ่นก็ไม่สอดคล้องกัน และบางครั้งก็ยกเลิกแนวนโยบายของพรรคการเมืองเดิม ทําให้เกิดเป็นปัญหาการเมืองส่วนท้องถิ่นที่แก้ไขได้ยาก
4 ปัญหากลุ่มผลประโยชน์ เนื่องจากว่ากลุ่มผลประโยชน์มีเป้าหมายในการจัดตั้งคือ ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มในการเข้าไปดูแลผลประโยชน์เมื่อมีการเรียกร้อง จึงทําให้กลุ่มผลประโยชน์พยายามเข้ามามีบทบาทในการขึ้นําการเมืองส่วนท้องถิ่น โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการ กําหนดนโยบายของการเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มของตนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเสนอ ความคิดเห็น การเรียกร้องให้ดําเนินการ หรือการคัดค้านการดําเนินการบางอย่างในประเด็นสาธารณะ ซึ่งมี ผลประโยชน์ทับซ้อนในการเอื้อประโยชน์ต่อกันกับนักการเมืองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ มักจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาของการเมืองส่วนท้องถิ่นในลักษณะของการครอบงําและชี้นํานักการเมืองส่วนท้องถิ่น อยู่เบื้องหลังในการกําหนดนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของตน แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการ ของชาวบ้านอย่างแท้จริง ทั้งนี้หากต้องการให้การเมืองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปสู่รูปแบบการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องพัฒนากลุ่มผลประโยชน์ก่อน
ข้อ 4 จงอธิบายการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตตามประกาศของ คสช. มาพอสังเขป
แนวคําตอบ (คําบรรยาย)
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภา กรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราวตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถอธิบายได้ดังนี้
รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
ตามที่มีประกาศ คสช. ที่ 85/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นการชั่วคราว ให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ครบวาระหรือพ้นจาก ตําแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง โดยในระหว่างนี้ ให้ดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามที่กําหนดไว้ในประกาศนี้
สมาชิกสภาท้องถิ่น
ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นครบวาระหรือว่างลง ให้ใช้วิธีตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อคัดเลือก บุคคลที่มีความรู้และความสามารถด้านการบริหารงานท้องถิ่น การคลังท้องถิ่น การศึกษาท้องถิ่น การอนามัยและ สาธารณสุข กฎหมาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น โยธาธิการ ผังเมือง หรือ โครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นตามที่คณะกรรมการสรรหาเห็นสมควร เข้ามาทําหน้าที่สมาชิกสภาท้องถิ่นไปพลางก่อน โดยอย่างน้อย 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหมดต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการตั้งแต่ ระดับชํานาญการพิเศษ หรือระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ทั้งนี้ให้คํานึงถึงพฤติกรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นกลางทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกด้วย โดยคณะกรรมการสรรหาต้อง ดําเนินการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีเหตุให้มีการเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น ในการนี้ คณะกรรมการสรรหาจะเสนอชื่อตนเองเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นมิได้
เมื่อได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นแล้ว ให้ประธานคณะกรรมการสรรหาประกาศแต่งตั้งสมาชิก สภาท้องถิ่นภายใน 3 วัน และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับการประกาศแต่งตั้งนั้นเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วย การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นนับแต่วันประกาศแต่งตั้ง
สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศนี้ต้องดํารงตําแหน่งจนกว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ได้รับ เลือกตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
ในกรณีที่สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศนี้ว่างลง ให้สภาท้องถิ่นประกอบด้วย สมาชิกเท่าที่เหลืออยู่โดยไม่ต้องดําเนินการคัดเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นแทนตําแหน่งที่ว่าง
ผู้บริหารท้องถิ่น
ในกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นครบวาระหรือว่างลง ให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกําหนดไว้แล้วนั้น
รูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขต
ตามที่มีประกาศ คสช. ที่ 86/2557 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและ สมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราว ให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตที่ ครบวาระหรือพ้นจากตําแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครจนกว่าจะมีประกาศ เปลี่ยนแปลง โดยในระหว่างนี้ให้ดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครตามที่กําหนดไว้ในประกาศนี้
ในกรณีที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครครบวาระหรือว่างลง ให้ใช้วิธีตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อ คัดเลือกบุคคลจํานวน 30 คน ประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้และความสามารถด้านการบริหารงานท้องถิ่น การคลังท้องถิ่น การศึกษาท้องถิ่น การอนามัยและสาธารณสุข กฎหมาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมหรือภูมิปัญญา ท้องถิ่น โยธาธิการ ผังเมือง โครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่นตามที่คณะกรรมการสรรหาเห็นสมควร เข้ามาทําหน้าที่ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครไปพลางก่อน โดยอย่างน้อย 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด ต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับนักบริหารระดับสูง หรือระดับ 10 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงพฤติกรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เละความเป็นกลางทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกด้วย โดยคณะกรรมการสรรหาต้องดําเนินการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีเหตุให้มี การเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในการนี้คณะกรรมการสรรหาจะเสนอชื่อตนเองเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมิได้
เมื่อได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแล้ว ให้ประธานคณะกรรมการสรรหาประกาศแต่งตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานครภายใน 3 วัน และให้ถือว่าผู้ที่ได้รับการประกาศแต่งตั้งนั้นเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครนับแต่วันประกาศแต่งตั้ง
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศนี้ต้องดํารงตําแหน่งจนกว่าจะจัดให้ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครและ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่ได้รับเลือกตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
ในกรณีที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศนี้ว่างลง ให้สภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่เหลืออยู่โดยไม่ต้องดําเนินการคัดเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแทนตําแหน่งที่ว่าง